วช.หนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก

วช.สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่มด้วยเทคโนโลยีความดันสูง ช่วยยืดอายุน้ำมะพร้าวสด นาน 2 เดือนโดยที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างแพร่หลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้านกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว รวมไปถึงด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ “การคัดเลือกสายพันธุ์และขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์” มี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นพันธุ์ที่ดีในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมภาคการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้มีการเติบโตมากขึ้นอีกด้วย

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทีมวิจัยประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการขยายพันธุ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงจากต่างประเทศและช่วยลดต้นทุนการผลิตอินทผลัมให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ทีมวิจัย ฯ ได้นำองค์ความรู้และทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าว และการตรวจสอบต้นพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมในระดับดีเอ็นเอของพืช มาใช้ในการพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ซึ่งการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากต้นพันธุ์ดียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากการเพาะต้นกล้าจากผลมะพร้าวมีอัตราการงอกเพียง 50 – 55 % ขณะเดียวกันหากเกษตรกรซื้อจากแหล่งจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวทั่วไป กว่าจะทราบว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่า 3 ปี ถึงจะจำแนกมะพร้าวน้ำหอมแท้ออกจากมะพร้าวต้นเตี้ยชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะต้องจำแนกจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะผล กาบใบ ลำต้น และการทดสอบชิมน้ำและเนื้อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต โดยจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก ปลอดโรค ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ และคงอัตลักษณ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ 100 % ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์ที่ไม่แท้

สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวน้ำหอม จะเริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดี น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ และให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดชิ้นส่วนของพืช (Explant) ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และเมื่อนำแคลลัส ไปเลี้ยงในสภาพที่มีแสง จะเกิดยอดใหม่ที่มีสีเขียว ชักนำให้เกิดยอดและราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป

“ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 2 ปีในพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการตรวจสอบในระดับดีเอ็นเอ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์

X

ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการแปรรูปด้วยความดันสูง (High Pressure Processing: HPP) ซึ่งเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคที่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้อง แบบไม่ใช้ความร้อน (Non-thermal process) มาใช้ในการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่ม ให้กับผู้ประกอบการ สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่มได้นานถึง 2 เดือน โดยที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มยังมีคุณภาพใกล้เคียงมะพร้าวสด หอม หวาน และคงคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ไม่สูญเสียไปจากเดิม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทีมวิจัย ฯ ได้มีการนำต้นพันธุ์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัม มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 63 ปี ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022)

📣 วันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022) กิจกรรม Boot Camp R2M ระดับภูมิภาค โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เป็นผู้จัดขึ้น ณ โรงแรมต้นทองรีสอร์ท อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวมจำนวน 9 แห่ง รวม 22 ทีม

🔹 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมนักศึกษาที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้ง 3 ทีม ได้แก่
1. ทีม 5EVER ชื่อผลงาน : ลูกชิ้นไข่ขาว ทีมนิสิตจากคณะเกษตรศาสตร์ฯ
2. ทีม ไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา
3. ทีม Perfecttwin DT ชื่อผลงาน : PaperMFresh Underarms Pads ผลิตภัณฑ์แผ่นระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ทีมนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์

🔸 ทั้งนี้ตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ทีม ต้องเตรียมความพร้อม เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะด้านการเขียนแผนนวัตกรรม และการนำเสนอผลงาน ก่อนเข้าสู่เวทีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับภูมิภาค ในวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

บีบีจีไอ จับมือ ม.นเรศวร ต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากสารสกัดสมุนไพร สู่การผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สานต่อกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภค

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์ในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสุขภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบีบีจีไอ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากธรรมชาติที่ต่อยอดจากงานวิจัยและพัฒนา โดยบีบีจีไอได้ทราบถึงการทำวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการต่อยอดสารสกัดจากสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีทิศทางด้านการวิจัยที่สอดคล้องกับ 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรมูลค่าสูง และการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ซึ่งความร่วมมือกันทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดสมุนไพร โดยการนำความรู้ทางวิชาการไปต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ”

บีบีจีไอ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัย นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภคต่อไป

ที่มา: บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ม.นเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18

วันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 “Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” ในรูปแบบ Hybrid: Online & Onsite ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และสร้างผู้นำทางการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน สนับสนุนการทำนุศิลปะและวัฒนธรรม สร้างผลงานวิชาการที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาสังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง กองการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักด้านวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลักดันการสร้างผลงานวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัย และการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 ” Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” เพื่อเป็นการพัฒนา รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางด้านการวิจัย ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และจัดเวทีวิชาการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำวิจัยให้แก่นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมวิชาการดังกล่าว จะมีกิจกรรมประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ และวิจัยสถาบัน โดยบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกต่างๆ อีกทั้ง กำหนดให้มีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าว ยังก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความเข็มแข็งขององค์กรหรือสถาบันการศึกษานั้นได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆอีกด้วย

วัตถุประสงค์
 1. เพื่อตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรตามภารกิจหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรม
 2. เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัย และผลงานวิทยานิพนธ์ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างบุคลากรทั้งในสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ
 3. เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
 1. ผลผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
 2. การนำเสนอผลงานเป็นไปตามมาตรฐานของการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ สกอ.

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

“อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร”ชูอาหารนุ่มพร้อมทานช่วยผู้ป่วยที่กลืนลำบากให้ได้รับสารอาหาร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตามแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยได้ทีม “Samadul Food” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำผลิตภัณฑ์ “เพียวเร่ข้าวมธุปายาส และเนื้อเทียมโปรตีนพืชสำหรับฝึกกลืน” ภายใต้แนวคิดธุรกิจอาหารนุ่มพร้อมทานเพื่อดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากให้ได้รับสารอาหารพื้นฐาน ทานน้อยแต่ได้ครบ ใช้ฝึกกลืนฟื้นฟูกล้ามเนื้อการกลืนด้วยเมนูจากพืชและมาจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งนอกจากการสนับสนุนทุนในการพัฒนาต้นแบบแล้ว อุทยานฯ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือทีมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถมองงานได้อย่างเข้าใจและโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ว่ามีข้อเด่นอย่างไร และทำให้ชัดขึ้นได้อย่างไร พร้อมมีระบบติดตามความก้าวหน้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ออกนอกเส้นทางและถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลาที่กำหนด รวมถึงสร้างเครือข่ายให้ทีมมีความผูกพันกันเองมากขึ้น ทำให้ได้ฝึกวิธีคิดและหาทางออก

เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทีมยังได้รับความรู้ในการทำธุรกิจแบบมียุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้แบบไม่เสี่ยงหรือเจ็บตัว นอกจากผลิตภัณฑ์จะมีโอกาสสามารถทำยอดขายสูงได้ในอนาคตแล้ว ยังทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างคุณค่าต่อโรงพยาบาลสำคัญ ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ช่วยดูแลผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายอาหารทางการแพทย์และสารให้ความข้นหนืดที่ต้องนำเข้า นอกจากจะช่วยให้เกิดรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกผักและพืชสมุนไพร ยังสร้างโอกาสในธุรกิจให้กับร้านจำหน่ายวัตถุดิบอาหารสุขภาพ หรือร้านขายอาหารทางการแพทย์อีกด้วย

ที่มา: dailynews

อร่อยเต็มอิ่ม กับ “ทุเรียนหลง-หลินลับแล” ด้วยนวัตกรรม “ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู”ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น ฯลฯ โดยผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลและอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี

“ทุเรียนหลงลับแล” เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอลับแล มีเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ คือ เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม ไม่มีเสี้ยน กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มีผลขนาดเล็ก 1-2 กิโลกรัม เมล็ดลีบ เนื้อแห้ง เจริญเติบโตได้ดีบนที่เชิงเขา ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า แม้ว่าจะนำไปปลูกในแหล่งปลูกทุเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีรสชาติดีเท่าที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน ทุเรียนอำเภอลับแลมีราคาสูง และได้รับความนิยมมาก แต่ประสบปัญหามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากขาดธาตุอาหาร หรือปริมาณธาตุอาหารที่มีในดินไม่เพียงพอต่อการผลิต การไว้ผลต่อต้นไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อกลางคืนเจาะเมล็ดทุเรียนในขณะที่ผลอ่อน โดยตัวหนอนเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ถ่ายมูล ทำให้ทุเรียนเปรอะเปื้อน สร้างความเสียหายแก่ผลทุเรียนในช่วงฤดูฝนเป็นจำนวนมาก

วิธีดูแลทุเรียน ในระยะให้ผลผลิต
สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก” แก่สหกรณ์การเกษตร อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการการค้า และผู้ส่งออก

สำหรับการดูแลต้นทุเรียนในระยะให้ผลผลิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำแนะนำดังนี้

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางใบ และงดน้ำในช่วงปลายฝนเพื่อเตรียมการออกดอก เมื่อต้นทุเรียนออกดอกแล้วให้ควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ดอกทุเรียนมีพัฒนาการที่ดี จนเมื่อดอกทุเรียนพัฒนาถึงระยะหัวกําไล (ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์) ให้ลดปริมาณน้ำลง โดยให้เพียง 1 ใน 3 ของปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น และให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนดอกบานและติดผลใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินตามผลการตรวจวิเคราะห์ดิน หรืออาจใส่ปุ๋ยตามแนวทางดังนี้

ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้นหลังเก็บเกี่ยว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จํานวน 20-50 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ใส่อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล เมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ เมื่อผลมีอายุ 10-11 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 1 ถึง 2 กิโลกรัมต่อต้น
การตัดแต่งดอก ทำการตัดแต่งดอกหลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งน้อยกว่า 2 เซนติเมตร) หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้งให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นในกิ่งเดียวกัน ให้มีจํานวนช่อดอก ประมาณ 3-6 ช่อดอก ต่อความยาวกิ่ง 1 เมตร แต่ละช่อดอกห่างกัน ประมาณ 30 เซนติเมตร
การตัดแต่งผล

ครั้งที่ 1 เมื่อผลอายุ 4-5 สัปดาห์ หลังดอกบาน ตัดแต่งผลที่มีขนาดเล็ก รูปทรงบิดเบี้ยว และไม่อยู่ในตําแหน่งที่ต้องการออก เหลือผลไว้ประมาณ 2-3 เท่า ของจำนวนผลที่ต้องการไว้จริง ครั้งที่ 2 เมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ หลังดอกบาน ระยะนี้ผลที่ปกติจะมีการขยายตัวด้านยาว สีผิวเขียวสดใส หนามมีขนาดปกติเรียวเล็ก ถ้าตรวจพบผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้วิธีนับอายุ โดยประมาณ ตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่พร้อมที่จะตัดได้ พันธุ์กระดุม 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 100-110 วัน พันธุ์ก้านยาว, พันธุ์กบ 120-135 วัน พันธุ์หมอนทอง 115-120 วัน พันธุ์หลงลับแล 105-110 วัน พันธุ์หลินลับแล 110-115 วัน

วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

หวังเจาะตลาดพรีเมียม อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหา เพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

วิธีดำเนินการเริ่มจากคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐาน แล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอทิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง (“เอทิลีน” เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)

กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง  วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพู จากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้น จึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพู คือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่น บรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อ คือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย

คุณประนอม ใจใหญ่

ด้าน คุณประนอม ใจใหญ่ เจ้าของสวนใจใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทุเรียนตกเกรดที่มีปัญหาหนอนเจาะผล ผลทุเรียนมีเชื้อราสีดำ ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา นอกจากนี้ ทุเรียนหลินลับแล และหลงลับแล เกษตรกรตัดทุเรียนที่ความสุก 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอายุการขายสั้น 3-4 วันเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยแก้ไขปัญหาทุเรียนตกเกรดได้เป็นอย่างดี เพราะนวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการขายการแกะทุเรียนสดได้ยาวนานขึ้น ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะได้มองเห็นด้วยสายตาว่า เนื้อทุเรียนที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพอย่างไร การขายทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม และเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จับมือ 2 องค์กรมุ่งพัฒนานวัตกรรมห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจค้าสัตว์น้ำ และนวัตกรรมสังคม

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin