วช. มอบรางวัลวิจัยแห่งชาติ ให้ ม.นเรศวร ที่คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ารำข้าว

นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัมต่อวัน

จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร พร้อมแกนนำนิสิตจิตอาสา มน. มอบหมอนหลอดรักษ์โลก และสมุดทำมือให้กับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ตามที่ กลุ่มนิสิตจิตอาสามีความสนใจและรวมตัวกันในการกำจัดหลอดดูดน้ำพลาสติกเพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาหลอดดูดน้ำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำความสะอาด แล้วนำไปทำเป็นหมอนหลอดสำหรับหนุนนอนเพื่อสุขภาพ และเอื้อให้กับผู้ป่วยต่างๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านและโรงพยาบาล รวมทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในกลุ่มนิสิตที่สนใจในการร่วมกิจกรรมจิตอาสา ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หมอนหลอด จำนวน  300 กว่าใบ โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 นางสาวธัญญารัตน์ อินทร์เมือง หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนานิสิต บุคลากรกองกิจการนิสิต และแกนนำนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้นำหมอนหลอดรักษ์โลก จำนวน 50 ใบ และสมุดทำมือ จำนวน 100 เล่ม ไปมอบให้กับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก โดยมีท่านนาวาอากาศเอก ภาณุวัตร เรืองประยูร ผู้บังคับการกองบิน 46 เป็นผู้รับมอบและให้การต้อนรับคณะบุคลากรและนิสิตจิตอาสา ณ ห้องประชุมจิรอาสา กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

เพ้นท์ถุงผ้ารักษ์โลกสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจให้นิสิตมอนอ

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 งานบริการสวัสดิการนิสิต ได้จัดโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจ ประจำปีงบประมาณ 2564 กิจกรรม “การเพ้นท์บนวัสดุต่าง ๆ” ณ ศูนย์สุขภาวะนิสิต อาคารขวัญเมือง หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความเครียด เสริมสร้างสุขภาพจิต และป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตของนิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร นั่นเอง โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายอริศรุต คดคง อาจารย์สอนศิลปะ มาเป็นวิทยากรในครั้งนีั้ โดยมี หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต (นางพรธิดา บุญยะโรจน์) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งนี้มีนิสิตผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 31 คน

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมเก็บขยะรอบบริเวณหอพักและศูนย์อาหารเอ็นยูสแควร์

กองกิจการนิสิตร่วมกับนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวรจัดกิจกรรมเก็บขยะรอบรอบบริเวณหอพักและศูนย์อาหารเอ็นยูสแควร์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีนิสิตร่วมกิจกรรมจำนวน 60 คน

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร มอบทุนจิตอาสารีไซเคิล ปันรัก ประจำปีการศึกษา 2563

ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้นำนิสิตกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ที่ผ่านการคัดเลือกการรับทุนการศึกษา เข้ารับมอบทุนจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี จำนวน 10 ราย โดยกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ได้ดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และได้นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำกิจกรรมจิตอาสา และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมประกาศสงครามขยะ  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมพิธีเปิดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ บริเวณโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าจากนโยบาย Zero Waste ของอธิการบดี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ และเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนดจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่เป็นมลพิษต่อพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในดิน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

การจัดโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์”ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเดินหน้าเปิดโครงการ เพื่อมุ่งหวังให้บุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (กิ่งไม้ ใบไม้) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำแนวคิดรวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่อยอดไปยังครัวเรือนของตนเองได้ ซึ่งตรงกับนโยบาย Zero Waste ที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ปราศจากขยะ   

ภายหลังจากการจัดโครงการ “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์” มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมประกาศสงครามขยะ ด้วยการเปิดโครงการ  “คัดแยกขยะ”คัดแยกขยะ ก่อนทิ้ง ทิ้งให้ถูกที่ ถูกถังณ โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร  ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่าจากนโยบายที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ กองอาคารสถานที่มีความมุ่งหวังอยากให้เกิดการคัดแยกขยะ เนื่องจากปัจจุบันขยะของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำขยะนั้นไปรีไซเคิลหรือจำหน่ายได้ โดยจะมีถังแยกขยะเกิดขึ้นตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นิสิต และประชาคมร่วมกันคัดแยกขยะ ก่อนการนำขยะไปรีไซเคิล  ส่วนขยะที่เป็นขยะอินทรีย์หรือขยะที่เป็นเศษอาหาร ก็จะแยกทำเป็นปุ๋ยหมัก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจะปลอดขยะ ตามนโยบาย Zero Waste คงเกิดขึ้นได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนั้นยังเป็นการประกาศสงครามขยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามแนวทางของจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย 

“ม.นเรศวร-Change ” ร่วมปกป้องนักวิจัย ปมยกเลิกใช้สารเคมีพาราควอต

ม.นเรศวร พร้อมพูดคุยกับสมาพันธ์เกษตร ปมร้าว ขอปลดนักวิจัย กรณีงานศึกษาผลกระทบสารเคมีพาราควอต -คลอร์ไพริฟอส ที่มีความเห็นไม่ตรงกับสมาพันธ์เกษตร จนยื่น 3 หมื่นชื่อให้ทบทวนข้อเสนอยกเลิกใช้ภายในมี.ค.นี้

วันนี้ (28 ม.ค. 2561) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ มน. กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้นำรายชื่อจำนวน 30,000 รายชื่อ ยื่นต่อผู้แทน รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 เพื่อคัดค้านข้อเสนอให้เลิกใช้สารพาราควอต และและคลอร์ไพริฟอสและมีข้อเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวรลาออกนั้น

ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเชิญสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยแห่งชาติ และทุกๆภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ให้ทุนการวิจัย ผู้วิจัย ทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านการเกษตรและสุขภาพ มาร่วมกันเสวนาวิชาการ เกี่ยวกับผลงานวิจัยที่ รศ.ดร.พวงรัตน์ ได้ศึกษาวิจัยมา ให้สมาพันธ์ ได้เข้าใจวัตถุประสงค์เจตนาที่ดีของนักวิชาการ ที่ต้องการ มุ่งเน้นช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตของ ประชาชนและเกษตรกร ไม่ได้มีเจตนาทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด

และหากผลกระทบในเรื่องใด มหาวิทยาลัยนเรศวรก็จะเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งคาดว่า หากได้รับการตอบรับ จากทางสมาพันธ์เกษตรฯ ก็จะสามารถหารือ พูดคุยทำความเข้าใจได้ทันที 

รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นเรศวรยืนยันว่า บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ มีหน้าที่ทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ชีวิตของประชาชนปลอดภัยมากที่สุด โดยไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น เป็นเรื่องของวิชาการโดยเฉพาะแต่หากเกิดความเข้าใจผิดหรือเกี่ยว ข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเป็นสื่อกลางประ สานทำความเข้าใจ

ส่วนกรณีที่สมาพันธ์เกษตรฯเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ แสดงความรับผิดชอบต่อ ผลงานวิจัยดังกล่าว ต้องขอดูข้อมูลทางวิชาการจากทางสมาพันธ์เกษตรฯ และอาจารย์ผู้ที่ทำวิจัยก่อน เพราะเจตนารมณ์ของงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ก่อนหน้านี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือThai-PAN ได้เผยแพร่เรื่องความปลอดภัยสารเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ ทำให้กลุ่มสมาพันธ์เกษตรฯ กังวลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อพืชผัก และนำมาสู่การยื่นรายชื่อเพื่อให้ยกเลิกข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอต ไกลโพเซตและคอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร ภายในเดือน มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ เครือข่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 9 องค์กร ยังร่วมรณรงค์ผ่าน Change.org ภายใต้หัวข้อร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ – “เสรีภาพทางวิชาการ” ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม 

ที่มา: thaipbs

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin