Archives January 2023

“คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ

       สถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาดส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติอยู่นับแสนๆคน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

       ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคณะนิติศาสตร์ จึงให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาทางสถานะบุคคลและสิทธิ จึงได้จัดตั้ง “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” มุ่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั่วประเทศ 

       โดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดให้มีงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ในประเด็น “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิติวรญา รัตนมณี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพร หาระบุตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้แถลงข่าว ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

       ด้าน ผศ.กิติวรญา รัตนมณี  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากข้อมูลจำนวนราษฎรของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564  พบว่าในประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร 973,656 คน จากประชากรในทะเบียนราษฎรทั้งหมด 66,171,439 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47 ซึ่งภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆจากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติจึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม

       ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแก่นิสิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งสิ้นประมาณ 27 คน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ นิสิตจบการศึกษาแล้ว 17 คน (มีสัญชาติไทย 13 คน ไร้สัญชาติ 4 คน) และกำลังศึกษาอยู่ 10 คน (ไร้สัญชาติทั้ง 10 คน) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆกว่า 200 คน และช่วยให้บุคคลไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 322 คน ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองเหลือเพียงปัญหาความไร้สัญชาติซึ่งยังต้องได้รับการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนต่อไป

       นอกเหนือจากงานให้บริการทางวิชาการ ที่สำคัญ “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล วิชาวิจัยทางกฎหมาย และวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่บูรณาการการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัยเข้าด้วยกัน

       ด้าน นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยถึงความลำบากและปัญหาในการไม่มีสัญชาติไทย ว่า “การขอทุนการศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทไม่สามารถทำได้ และการเดินทางมาเรียนคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยจะต้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งในการไปขอแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมาก ซึ่งมีสัญญาเพียง 1 ปี เมื่อครบสัญญาก็ต้องไปต่อใหม่ และที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ปัญหาตรงนี้ทำให้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งสมัครสอบ ก.พ.  เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย”

       ในส่วน นางสาวสุขฤทัย อุ้มอารีกุล บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยความรู้สึกหลังจากที่ได้รับสัญชาติไทยว่า  “ขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ได้มีวันนี้ หลังจากที่ใช้บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมาจนถึงอายุ 25 ปี 5 เดือน การดำเนินกระบวนการที่ยาวนานกว่า 6 ปี เริ่มตั้งเเต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2556 โดย ศ.ดร.วิทยา จันทร์ศิลา อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พาไปพบกับ ผศ.กิติวรญา รัตนมณี จึงได้เริ่มต้นดำเนินการให้คำเเนะนำ และเริ่มดำเนินการจริงจังเมื่อ 21กุมภาพันธ์ 2560 โดยความช่วยเหลือของ 3 คณะทำงาน คือ 1.คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนเรศวร 2.คณะทำงานของบางกอกคลินิก และ3.คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง  ซึ่งหนูรอคอยวันนี้มานานแสนนาน หนูอยากมีนามสกุล อยากมีสัญชาติไทย และหนูดีใจมากๆ ค่ะ หนูจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อเมืองไทยต่อไปค่ะ หลังจากได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย หนูก็ได้รับโอกาสดีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของการทำงาน ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ”

       มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญการเป็น พลโลก/พลเมืองโลก หรือ Global Citizenship เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ การเป็นพลโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ปัญหาสำคัญคือทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นความท้าทายของเราในฐานะสถาบันการศึกษาในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ได้ เราจะผลิตบัณฑิตเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีความเป็น “พลโลก” เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ หรือมีปัญหาสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page ‘คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 055-961739 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดโครงการบูรณาการ ร่วมมือท้องถิ่นพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17) ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมโครงการบูรณาการการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ปีที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม 2566 ณ โรงเรียนวัดโพทะเล อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

ในปีนี้ สภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับองค์กรกิจกรรมนิสิตส่วนกลางทั้ง 5 ด้าน ได้จัดกิจกรรมหลากหลายประเภทที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทั้งในด้านวิชาการ กีฬา ศิลปะ คุณธรรม และการบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยได้รับเกียรติจากคุณศิริวรรณ กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต เป็นประธานเปิดโครงการ และท่านนายกสิทธิศักดิ์ ศรีสง่า นายกเทศมนตรีตำบลโพทะเล รวมถึงท่านผู้อำนวยการธเนศ โกวิทย์ ที่ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

กิจกรรมภายในโครงการประกอบด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ เช่น การปรับปรุงทาสีอุปกรณ์เครื่องเล่นเด็ก, การปรับปรุงสนามวอลเลย์บอล, การจัดทำสนามเปตอง, และการสอนเสริมทักษะกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้ยังมีการเสริมทักษะด้านวิชาการ โดยการสอนเสริมวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย รวมถึงการจัดทำบอร์ดสื่อการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน

ในด้านศิลปะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมเรียนรู้การร้อง รำ เต้น ในขณะที่กิจกรรมด้านคุณธรรม ได้จัดทำป้ายความรู้สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างค่านิยมที่ดีในหมู่นักเรียนและชุมชน

โดยในปีนี้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 ถึง ม.3 ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพี่ๆ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการร่วมมือกับชุมชนและการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดอกไม้กำลังจะบาน ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อเวลา 9.00 น. วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากรเข้าร่วมกันปลูกไม้ดอกไม้ประดับบริเวณด้านหน้าอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อตกแต่งสถานที่และเตรียมความพร้อมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดอบรมเสริมแกร่ง หลักสูตรประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยนเรศวรมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีและการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการใช้ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรม

ล่าสุด อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9-13 มกราคม 2566 โดยหลักสูตรนี้มีระยะเวลา 5 วันและรวมเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า 40 ชั่วโมง ภายใต้โครงการ “พัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up)”

การอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรจากหลายสถาบันชั้นนำ ซึ่งได้แก่ ดร.อนุชิต สุขเจริญพงษ์ จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ดร.ชัยยุทธิ์ เจริญผล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายชิงชัย หุมห้อง จากบริษัท แมพพิเดีย จำกัด, ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีรกุล และ ดร.พลปรีชา ชิดบุรี จากมหาวิทยาลัยนเรศวร

กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับในภาคอุตสาหกรรม โดยการอบรมนี้จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมมีความเข้าใจในเทคโนโลยีการใช้งาน UAV และสามารถนำไปปรับใช้ในงานด้านต่างๆ เช่น การสำรวจที่ดิน การเกษตร การสำรวจทางอุตสาหกรรม และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 9: การพัฒนาอุตสาหกรรม, นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ส่งเสริมบทบาทสตรีเป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียม

สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการประชุมครั้งที่ 305 (13/2565) เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

ถ่ายทอดความรู้ระบบบำบัดน้ำเสีย เสริมทักษะด้านการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมให้กับนิสิตวิศวกรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ปีที่ 3 จำนวน 59 คน ภายใต้การนำของอาจารย์อำพล เตโชวาณิชย์ เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย ณ สถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง

การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการจัดการน้ำเสียอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

การเรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานช่วยให้นิสิตได้รับความรู้และประสบการณ์จริงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการจัดการน้ำและสุขาภิบาล (SDG 6) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ในด้านการศึกษา (SDG 4) เพื่อเตรียมความพร้อมในงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและรับผิดชอบต่อสังคม

ม.นเรศวร ร่วมจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” บนหลังคา (Solar Rooftop)

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) [IEEE Power & Energy Society (Thailand)] จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ“ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop): นโยบาย ข้อกำหนด การใช้โปรแกรมออกแบบ ติดตั้ง ควบคุมและบำรุงรักษา”

โดยมี รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี และทีมงาน SGtech ร่วมบรรยายในหัวข้อ“การออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้โปรแกรม PVsys” และหัวข้อ dg “การอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้โปรแกรม PVsys สำหรับออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”ในวันที่ 23 มกราคม 2566 ณ ห้อง Arnoma โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร แปรรูปกะหล่ำปลี-โหระพา ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ ลิ้มเพียรชอบ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วรี ติยะบุญชัย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมแถลงผลวิจัยแปรรูปกะหล่ำปลี และโหระพาเป็นอาหารเสริม ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจและโรคอ้วน

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ กล่าวว่า ในปัจจุบันภาวะคอเลสเตอรอลสูง นับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดคอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนและเป็นส่วนหนึ่งของเยื่อบุเซลล์คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากตับ บางส่วนพบอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน “กะหล่ำปลีผง” ผลิตด้วยกรรมวิธี Freeze-dry โดยผงที่ได้จะมีลักษณะฟูละเอียดสีเขียวอ่อน มีกลิ่นอ่อนความคงตัวทางกายภาพดี หากเก็บที่อุณหภูมิที่เหมาะสมและแสดงฤทธิ์ในการจับกับกรดน้ำดี เนื่องจากกรดน้ำดีมีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล ในกระแสเลือดโดยการจับกรดน้ำดีในทางเดินอาหาร จะส่งผลให้มีการขับกรดน้ำดีทิ้งออกทางอุจจาระ และส่งผลต่อเนื่องให้ดับคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างกรดน้ำดีเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลทำให้ระดับของคอเลสเตอรอล ในเลือดลดลงได้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ล่าสุดผลงานวิจัยดังกล่าว ได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจะวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ ให้มีการพัฒนาต่อไป

ที่มา: dailynews

เพื่อนพิงใจเวลาท้อ ศูนย์สุขภาวะนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

>>>เปิดเทอมนี้พบกันค่ะ เพื่อนพิงใจเวลาท้อ เวลาเครียดเวลาหาคนคุยด้วยไม่ได้
>>> ทางนี้มีคนคอยรับฟัง และช่วยเหลือน่าาาา
………………………………………………………
พบกับพี่ๆ ใจดี 4 คน >> วันจันทร์ – ศุกร์

– วันจันทร์ พี่เกด >> พี่สาวอารมณ์ดี

ฝีมือทำกับข้าวยืนหนึ่ง พึ่งพิงได้

รอยยิ้มสดใส พร้อมสร้างความสุข

ด้วยบอร์ดเกมส์ อิ่มเอมใจ

เหมือนมีเพื่อนสนิทสุดๆ มานั่งคุยด้วย

– วันอังคาร พี่แหม๋ว>>พี่สาวที่เป็นผู้ให้

ใจเย็น เข้าใจความรู้สึก สุขุมนุ่มลึก

และพร้อมรับฟัง

– วันพุธ/พฤหัส พี่นน>>สบายใจ

เมื่ออยู่ใกล้ อบอุ่น เป็นมิตร ใจดี มีความเป็นแม่สูง

และพร้อมอยู่ข้างๆ ลูกๆ เสมอ

– วันศุกร์ พี่ขวัญ>>กระตือรือร้น รับฟัง

ใส่ใจ ห่วงใย ทุกคน

……………………………………………………..

เวลา 08.30 – 20.00 น. ณ ศูนย์สุขภาวะนิสิต (ห้องขวัญ3)

อาคารขวัญเมือง หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

…………………………………………………….

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 0-5596-1273 (พี่นน)

ที่มา: ศูนย์สุขภาวะนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอเชิญเข้าร่วมอบรมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการ

วันที่ 26 – 27 มกราคม 2566 รูปแบบ Onsite: ห้องประชุมมหามนตรี อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมหาวิทยาลัยนเรศวร (KNECC) Online: Facebook Live เพจ DRI Naresuan University

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin