“คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ

       สถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาดส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติอยู่นับแสนๆคน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

       ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคณะนิติศาสตร์ จึงให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาทางสถานะบุคคลและสิทธิ จึงได้จัดตั้ง “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” มุ่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั่วประเทศ 

       โดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดให้มีงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ในประเด็น “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิติวรญา รัตนมณี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพร หาระบุตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้แถลงข่าว ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

       ด้าน ผศ.กิติวรญา รัตนมณี  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากข้อมูลจำนวนราษฎรของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564  พบว่าในประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร 973,656 คน จากประชากรในทะเบียนราษฎรทั้งหมด 66,171,439 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47 ซึ่งภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆจากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติจึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม

       ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแก่นิสิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งสิ้นประมาณ 27 คน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ นิสิตจบการศึกษาแล้ว 17 คน (มีสัญชาติไทย 13 คน ไร้สัญชาติ 4 คน) และกำลังศึกษาอยู่ 10 คน (ไร้สัญชาติทั้ง 10 คน) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆกว่า 200 คน และช่วยให้บุคคลไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 322 คน ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองเหลือเพียงปัญหาความไร้สัญชาติซึ่งยังต้องได้รับการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนต่อไป

       นอกเหนือจากงานให้บริการทางวิชาการ ที่สำคัญ “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล วิชาวิจัยทางกฎหมาย และวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่บูรณาการการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัยเข้าด้วยกัน

       ด้าน นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยถึงความลำบากและปัญหาในการไม่มีสัญชาติไทย ว่า “การขอทุนการศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทไม่สามารถทำได้ และการเดินทางมาเรียนคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยจะต้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งในการไปขอแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมาก ซึ่งมีสัญญาเพียง 1 ปี เมื่อครบสัญญาก็ต้องไปต่อใหม่ และที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ปัญหาตรงนี้ทำให้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งสมัครสอบ ก.พ.  เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย”

       ในส่วน นางสาวสุขฤทัย อุ้มอารีกุล บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยความรู้สึกหลังจากที่ได้รับสัญชาติไทยว่า  “ขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ได้มีวันนี้ หลังจากที่ใช้บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมาจนถึงอายุ 25 ปี 5 เดือน การดำเนินกระบวนการที่ยาวนานกว่า 6 ปี เริ่มตั้งเเต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2556 โดย ศ.ดร.วิทยา จันทร์ศิลา อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พาไปพบกับ ผศ.กิติวรญา รัตนมณี จึงได้เริ่มต้นดำเนินการให้คำเเนะนำ และเริ่มดำเนินการจริงจังเมื่อ 21กุมภาพันธ์ 2560 โดยความช่วยเหลือของ 3 คณะทำงาน คือ 1.คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนเรศวร 2.คณะทำงานของบางกอกคลินิก และ3.คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง  ซึ่งหนูรอคอยวันนี้มานานแสนนาน หนูอยากมีนามสกุล อยากมีสัญชาติไทย และหนูดีใจมากๆ ค่ะ หนูจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อเมืองไทยต่อไปค่ะ หลังจากได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย หนูก็ได้รับโอกาสดีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของการทำงาน ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ”

       มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญการเป็น พลโลก/พลเมืองโลก หรือ Global Citizenship เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ การเป็นพลโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ปัญหาสำคัญคือทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นความท้าทายของเราในฐานะสถาบันการศึกษาในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ได้ เราจะผลิตบัณฑิตเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีความเป็น “พลโลก” เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ หรือมีปัญหาสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page ‘คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 055-961739 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร