หน่วยใส่ฟันเทียมทันตกรรมพระราชทาน ออกพื้นที่บริการสร้างรอยยิ้มให้ประชาชน

วันที่ 21-23 ก.พ. 2566 จำนวนทั้งหมด 34 ราย ณ รพ.สต.โพนทอง ตำบลโพนทอง อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย เนื่องด้วยกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลโพธิ์ตาก พบปัญหาการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ในเคสผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงต้องอาศัยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการให้บริการแก่ผู้ป่วย จึงประสานงานมายังหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ทางหน่วยทันตกรรมพระราชทาน นำโดย อ.ทพ.ดร.พรพจน์ เจียงกองโค และทีมงานกว่า 30 คน ประกอบด้วย อาจารย์ทันตแพทย์ นิสิต ป.โท สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ และช่างทันตกรรม ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการทำฟันเทียมทั้งปาก ระยะเวลา 3 วัน จำนวนทั้งสิ้น 34 ราย

การทำฟันเทียมพระราชทาน ในการออกหน่วยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาช่วยในการทำฟันเทียมทั้งปาก ( Digital Denture)โดยมีการนำระบบการสแกนฟัน (Digital scan) เพื่อให้ได้ข้อมูลฟัน จากนั้นทำการออกแบบฟันเทียมทั้งปากด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (CAD design) เมื่อออกแบบเรียบร้อยเสร็จเรียบร้อย ก็จะทำขึ้นรูปฟันเทียมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CAM) โดยใช้เครื่อง 3D printer ซึ่งการนำระบบดิจิตัลมาใช้ครั้งนี้ ได้ทำนำร่องให้ผู้ป่วยเป็นจำนวน 5 เคส ซึ่งเป็น Digital denture 5 เคสแรกของหน่วยเรา พบว่าสามารถผลิตชิ้นงานได้รวดเร็วขึ้น การยึดติด และการใช้งานไม่ต่างจากการผลิตชิ้นงานแบบปกติ แต่ที่น่าสนใจคือ ฟันมีความสวยงามและธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถออกแบบฟันให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายได้ แตกต่างจากวิธีปกติที่ใช้ฟันสำเร็จรูปจากบริษัท อย่างไรก็ตามอุปกรณ์และวัสดุทางดิจิตัลมีราคาค่อนข้างสูง และเทคนิการทำซับซ้อน ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

ทางทีมงานต้องขอขอบคุณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพธิ์ตาก โดย ทพ.ณัฐพล มัสยามาตย์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลโพธิ์ตาก ทพญ.เขมจิรัฏฐ์ โควสุภัทร์(ศิษย์เก่า ม.น รุ่น 11) และทีมงานทุกท่าน ที่ช่วยประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับทางหน่วยทันตกรรมพระราชทานเป็นอย่างดี

สุดท้ายต้องขอชื่นชมทางทีมงานของเราทุกคน อาจารย์ นิสิต ป.โท สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ คุณหมอกำพล คุณหมอนววิชณ์ ผู้ช่วยฯ เจ้าหน้าที่และช่างทันตกรรมทุกท่าน ที่ทุ่มเททำหน้าที่กันได้อย่างเต็มที่ ผลิตชิ้นงานฟันเทียมทั้งปากประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และมอบรอยยิ้มให้คุณลุง คุณป้า ทั้ง 34 คน ทุกคนยิ้มออกมาด้วยความดีใจกับรอยยิ้มใหม่ สร้างความประทับใจให้แก่ทีมงานเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา: หน่วยใส่ฟันเทียมทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถ่ายทอดความรู้ พัฒนาทักษะส่วนบุคคลและเป็นการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 จัดกิจกรรมสอนทักษะการแปรงฟันให้กับผู้ดูแล (เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา นิคมสร้างตนเองบางระกำ) เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ ร่วมกับช่วยดูแลการแปรงฟันให้กับผู้รับสมาชิกบ้านน้อยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลและเป็นการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากและฟันให้กับผู้ดูแลและผู้รับในนิคมสร้างตนเองบางระกำ เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษารายวิชาทันตกรรมชุมชน และปลูกนิสัยการมีจิตสาธารณะให้กับนิสิตทันตแพทย์ ณ นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ

คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ ตอนที่ 2 : การให้ความช่วยเหลือในจังหวัดพิษณุโลก

สัมภาษณ์
-ผศ.กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
-น.ส.ภิญญาภัทร ปุญญธนา (น้องแตงโม) นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

>>> ขอเชิญชวนทุกท่านรับชมคลิปวิดีโอ และร่วมตอบแบบสอบถาม ลิงค์สำหรับตอบแบบสอบถาม https://forms.gle/BefJfJ5HaZ1Q1mLD7

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร NUradio Naresuan

ห้องสมุด ที่เท่าเทียมสำหรับนิสิตทุกคน

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ตามที่ น้องทาม ได้เป็นนิสิตใหม่ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ประจำปีการศึกษา 2566 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ นั้น ในการนี้ รศ.ดร.ภญ.รัตติมา จีนาพงษา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และทีมงาน จึงได้เชิญ

ผศ.ดร.ธีรวุฒิ บุญยศักดิ์เสรี และ ผศ.ดร.จรัญญา พหลเทพ อาจารย์ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มาให้คำแนะนำในการจัดสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการของสำนักหอสมุด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เช่น ประตูทางเข้า ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ จุดสืบค้นคอมพิวเตอร์ ห้องศึกษาค้นคว่ากลุ่ม โต๊ะอ่านหนังสือ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร สร้างโอกาสความเท่าเทียม เพราะความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการเรียน

ในปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พิจารณาให้นายวรรธณะ คำอินทร์ หรือน้องทาม มีความพิการทางด้านร่างกาย ไม่มีแขนทั้งสองข้าง เข้าศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ

และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯ พาน้องทาม เข้าเยี่ยมชมหอพักที่จะใช้พักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในระหว่างการศึกษา และทดลองการใช้บริการต่าง ๆ ในหอพัก อาทิ การขึ้นลงบันได การเปิดห้องห้องพัก เป็นต้น รวมทั้งได้อธิบายการใช้ห้องส่วนรวมต่างๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ ภายในหอพักให้ทางน้องทามทราบ ในเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีศูนย์บริการนิสิตพิการมหาวิทยาลัยนเรศวร (NU DSS) อยู่ในการดูแลของกองกิจการนิสิต จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้นิสิตพิการหรือมีความบกพร่อง สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียมกับนิสิตทั่วไป โดยจัดหาบริการสนับสนุน เพื่อช่วยให้นิสิตพิการสามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้

ขอบคุณภาพและข้อมูล จาก Paul wonder กองกิจการนิสิต และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ออกให้บริการทางทันตกรรมให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 237 ราย

วันที่ 19 เมษายน 2566 หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ออกให้บริการทางทันตกรรมให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 237 ราย

โดยแบ่งเป็น อุดฟัน 44 ราย ขูดหินปูน 102 ราย และ ถอนฟัน 91 ราย

ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบการดูแล ช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม

ผศ.ดร. ธนะธร พ่อค้า (ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะวิทยาศาสตร์) ดร.ณัฐพล คุ้มใหญ่โต ,ผศ.ดร.วินัย วงษ์ไทย และทีมนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบการดูแล ช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีระบบย่อยคือ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม Emergency Social Services หรือ ESS Help Me ที่จะเปิดใช้งานทั่วประเทศ ในวันที่ 5 เมษายน 2566

โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาระบบแจ้งเหตุ ESS ร่วมกับ
– สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
– สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
– กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา

โดยในวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้นำเสนอระบบดังกล่าวต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ระบบแจ้งเหตุ ESS จะเริ่มเปิดใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน 2566 ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. ภายในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2566

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร ให้บริการใส่ฟันเทียมพระราชทาน ณ รพ.หนองหาน จังหวัดอุดรธานี

วันที่ 28-30 มีนาคม 2566 หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รศ.ทพ.ดร.อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ คณบดี และประธานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทย์ ม.นเรศวร และทีมงานอาจารย์ทันตแพทย์ นิสิตทันตแพทย์สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ช่างทันตกรรม รวมทันตแพทย์ศิษย์เก่าในพื้นที่กว่า 30 คน ลงพื้นที่ไปใส่ฟันเทียมพระราชทานชนิดฟันเทียมทั้งปากให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี รวมทั้งหมด 35 ราย

ซึ่งการออกหน่วยครั้งนี้ถือว่าเป็นการออกหน่วยครั้งแรกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องด้วยทาง รพ.หนองหาน ซึ่งมีศิษย์เก่า ม.นเรศวร เป็นทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาล ทำหนังสือถึงคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ขอความอนุเคราะห์หน่วยทันตกรรมพระราชทาน เพื่อใส่ฟันเทียมทั้งปากแก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องด้วยทางโรงพยาบาลมีคนไข้ฟันเทียมทั้งปากมารอรับการบริการจำนวนมาก ทันแพทย์มีจำนวนจำกัด เพื่อบรรเทาปัญหานี้ จึงขอความอนุเคราะห์มาทางหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ

ซึ่งการออกหน่วยครั้งนี้ได้ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยฟันเทียมทั้งปาก ชาวอำเภอหนองหาน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 35 ราย โดยคุณลุง คุณป้า ต่างปลาบปลื้มยินดีในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ทรงห่วงใยประชาชน และทรงมองเห็นความสำคัญของสุขภาพฟันและช่องปาก

ทางทีมงานต้องขอขอบคุณ ท่านผู้อำนวยการ รพ. หนองหาน หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม และ ทันตแพทย์ผู้ประสานงาน ทพ.จักษวัชร์ เจริญบุตรานนท์ (ศิษย์เก่า ม.น. รุ่น 12) และ ทพ.นววิธ สิริขจรเดชสกุล (ศิษย์เก่า ม.น. รุ่น 4) ทันตแพทย์ในพื้นที่ ที่ให้การต้อนรับดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการออกหน่วยครั้งนี้เป็นอย่างดี

และขอขอบคุณทีมทันตแพทย์ ที่มาช่วยสมทบในการออกหน่วยครั้งนี้ คุณหมอกำพล คุณหมอลูกปลา คุณหมอสายใจ โดยเฉพาะทันตแพทย์ศิษย์เก่า (MS prosth รุ่น1) ของเรา คุณหมอทักษิญา และ คุณหมอสามขวัญ และยังมีคุณหมอศิษย์เก่าในพื้นใกล้เคียง คุณกมลชนก คุณหมออรุโณทัย ที่สละเวลา มาร่วมออกหน่วยครั้งนี้ หวังว่าโอกาสหน้าคงได้ไปร่วมออกหน่วยกันอีก

สุดท้ายต้องขอชื่นชมและขอบคุณทีมงานทุกคน ทันตแพทย์ ผู้ช่วยฯ ช่างทันตกรรม เจ้าหน้าที่ และนิสิต ป.โท ทุกคน ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ปฏิบัติหน้าที่จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งการออกหน่วยรอบนี้เราสามารถเพิ่มจำนวนเคสได้มากถึง 35 เคส ซึ่งถือว่าเยอะที่สุด ในการออกหน่วยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ระบบการจัดการต่างๆ ที่ดีขึ้น

ทุกคนในทีมถึงแม้จะเหนื่อย ทุกวันเริ่มงาน 7.00 น. เลิกงาน 20.00 น. ทานข้าวเที่ยงกัน 10 นาที แต่พวกเราทุกคนก็เต็มที่และเต็มใจทำ ยิ่งการที่พวกเราได้เห็นรอยยิ้ม คุณลุงคุณป้า ที่รอคิวทำฟันเทียมมานานกว่าปี เพื่อที่จะได้ใส่ฟันวันนี้ ทำให้เราทุกคนหายเหนื่อยมีกำลังใจ สร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้ด้อยโอกาสต่อไป…

ทีมหน่วยใส่ฟันเทียมพระราชทาน
ที่มา: หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการอบรมเสริมสร้างทัศนคติ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าของนิสิตพิการ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กองกิจการนิสิต ได้จัด โครงการอบรมเสริมสร้างทัศนคติ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าของนิสิตพิการ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2566 ณ วนธาราเฮลท์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตพิการเกิดความภาคภูมิใจทางการศึกษาของตนเอง และเกิดความมุ่งมั่นทางการศึกษา อีกทั้งยังทำให้เปิดใจที่จะเรียนรู้และอยู่ในสังคมขณะศึกษาได้อย่างมีความสุข โดยมีเพื่อนสนิท นิสิตที่เป็นตัวแทนขององค์กรกิจกรรมนิสิตเข้าร่วมเพื่อกระตุ้นให้นิสิตพิการเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตทางการศึกษา และนิสิตที่เป็นแกนนำอาสาสมัครสร้างสุขจะส่งพลังบวกเสริมสร้างกำลังใจความมั่นใจและช่วยผลักดันการใช้ชีวิตและการศึกษาได้ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต นางศิริวรรณ กมลพัฒนะ เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมด้วย หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต นางพรธิดา บุญยะโรจน์ กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจน้องๆ นิสิตพิการผู้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์บริการนิสิตพิการได้มีนิสิตที่มีความพิการ จำนวน 20 ราย โดยมีรายละเอียดความพิการ ดังนี้
1. ทางสายตา จำนวน 3 คน ตาเลื่อนลาง
2. ทางร่างกาย จำนวน 15 คน
3. ทางการได้ยิน จำนวน 1 คน หูหนวก
4. ทางการเรียนรู้ จำนวน 1 คน LD (บกพร่องทางการเรียนรู้)
และในปีการศึกษา 2565 นี้ จะมีนิสิตในศูนย์บริการนิสิตพิการ จบการศึกษา จำนวน 10 ราย

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดนตรีสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขังชาย

วันที่ 13-15 มีนาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.ศศิณัฐ พงษ์นิล ผู้ช่วยคณบดี และ อาจารย์ภูมินทร์ ภูมิรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมวิชาดนตรีสร้างแรงบันดาลใจ เพลงประสานเสียง ภายใต้โครงการอบรมโปรแกรมการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขังชาย จำนวน 50 คน ณ เรือนจำกลางพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin