Archives December 2022

สสส. สานพลัง สถาบันยุวทัศน์ฯ ม.นเรศวร จัดกิจกรรมต้อนรับปีใหม่ถึงหน้าหอพัก ชวนนักศึกษามอบของขวัญปีใหม่ให้ตนเอง “สุขภาพแข็งแรง เริ่มต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่”

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเทศกาล “MORNOR OVER HEAT & OVER HEALTH” ประจำปี 2565 กิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ถึงหน้าหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีสุขภาพแข็งแรง รณรงค์ให้นักศึกษาและประชาชนไม่ตกเป็นทาสของบุหรี่ ด้วยการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพที่ดี และเชิญชวนบอกต่อ สื่อสารพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้กับคนรอบข้าง เพื่อเป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตนเอง เพื่อนและครอบครัวที่คุณรักในเทศกาลปีใหม่นี้ ทั้งนี้ เป้าหมายและทิศทางการทำงานของสสส. มุ่งเน้นการลดอัตราการบริโภคยาสูบทั้งการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ของผู้สูบเดิม การดูแลสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า

                     รศ.แล กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.4 จากจำนวนประชากรทั้งหมด อายุเฉลี่ยที่สูบจนเป็นนิสัยปกติอยู่ที่ 19.7 ปี ส่วนการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ12.7 ลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 15.4 แม้การสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง แต่พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น พบคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน เป็นเยาวชน 15-24 ปีมากที่สุดคือ ร้อยละ 30.5 กลุ่มเยาวชนควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อการบริโภคยาสูบ เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่ชนิดมวน และเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก จนเป็นสาเหตุทำให้เด็กและเยาวชนตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้า

                     ด้าน รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า กิจกรรม MORNOR OVER HEAT & OVER HEALTH ประจำปี 2565 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ของนักศึกษา โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์แสดงออกความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี การแสดง หรือความสามารถอื่น ๆ กิจกรรมนี้ถือเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางกายและสติปัญญา เช่น การเรียนรู้ถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวรคือ การสร้างระบบนิเวศการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในทุกมิติ (Sustainable Campus Life)

                     ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามแนวนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่พัฒนาและผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาปลอดบุหรี่ โดยจัดให้มีการรณรงค์ ป้องกัน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ตลอดจนโครงการอบรมเพื่อให้ความรู้แก่นิสิตและบุคลากร ซึ่งดำเนินการร่วมกับ สสส. มาอย่างเข็มข้น ทั้งนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: www.thaihealth.or.th , Cable Channel 37HD

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมคอนเสิร์ตหน้าหอ MORNOR Over Heat And Over Health

พื้นที่สร้างสุขสำหรับทุกคน สุขภาพดี = ของขวัญที่ดีที่สุด โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ(สสส.) และ AIS เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565ณ ลานหน้าอาคารขวัญเมือง หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมวางแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบึงกาฬ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้ง ผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า จังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งหมดเท่ากับ 880.27 ตร.กม. และในรอบ 10 ปี จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมดเท่ากับ 237.264 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้ง

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน พบว่า มีระบบประปาหมู่บ้าน 574 หมู่บ้าน ไม่มีระบบประปา 43 หมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา

ที่มา: dailynews

มหกรรมงานหนังสือ NU Book Fair ครั้งที่ 23 มาแล้ว

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดมหกรรมงานหนังสือ NU Book Fair ครั้งที่ 23 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 27 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเรียนรวม QS และ บริเวณด้านหน้าสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ร่วมกิจกรรม Book Festival และ Siangthip book center สนุกไปกับกิจกรรมทั้งการประกวด Raps จากหนังสือ, การฉายภาพยนตร์จาก Documentary Club ที่หาดูได้ยากจาก ปันยามูฟวี่, นิทรรศการภาพ tolerance, Book Talks กับนักเขียนและนักแปลชื่อดัง, กิจกรรม Workshop และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งหนังสือราคาถูก โดยจัดกิจกรรมนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักพิม์ต่าง ๆ ร่วมออกบูธกิจกรรม รวมถึงผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและร้านอาหารเพื่อบริการให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน

ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

เริ่มแล้ว มหกรรมหนังสือ NU BOOK FAIR ครั้งที่ 23

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมหนังสือ NU BOOK FAIR ครั้งที่ 23” ภายในงานเต็มไปด้วยหนังสือหลายรูปแบ คับคั่งไปด้วยผลงานของนักเขียนที่หลากหลาย อีกทั้งยังจัดกิจกรรมเสริมความรู้ กิจกรรม Workshop ต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมโต้วาที จัดทำสมุดทำมือ การประกวด Raps จากหนังสือ การฉายภาพยนตร์จาก Documentary Club ที่หาดูได้ยากจาก ปันยามูฟวี่ นิทรรศการภาพ tolerance Book Talks กับนักเขียนและนักแปลชื่อดัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสินค้าจากผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน OTOP โซนภาคเหนือ และร้านอาหารอร่อยเจ้าดังในจังหวัดพิษณุโลกอีกมากมาย

โอกาสนี้ขอเชิญผู้สนใจร่วมงานมหกรรมหนังสือ NU BOOK FAIR ครั้งที่ 23 ได้ ระหว่างวันที่ 21- 27 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ (QS) มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดประชุมการหารือแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยร่วมกับภาคเอกชน

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมเสลา 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเเละรักษาการในตำเเหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย กองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เเละกองการวิจัยและนวัตกรรม

ได้จัดประชุมหารือแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยร่วมกับ จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งเเวดล้อม โอลิโอเคมีคอล เชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวเคมี พลาสติกชีวภาพ เเละโรงไฟฟ้า ร่วมทุนระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจผลิตไบโอเคมีเเละเคมีชีวภาพ เเละธุรกิจเอทานอลจากกากน้ำตาล โดยมีอ้อยเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เเละบริษัทฯ มีปัญหาในการจัดการกากอ้อยเเละเถ้าจากกระบวนการผลิต บริษัทฯ จึงมีความประสงค์ขอข้อมูลสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการกากอุตสาหกรรม

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมให้กำลังใจนักปั่นจักรยานทางไกลระดับโลก เลอแทป พิษณุโลก บาย ตูร์ เดอ ฟร็องส์ 2022

ม.นเรศวร นำนิสิตและอาจารย์ร่วมปฏิบัติหน้าที่เลอแทป พิษณุโลก บาย ตูร์ เดอ ฟร็องส์ 2022 (L’Etape Phitsanulok by Tour de France 2022) ให้บริการวิชาการด้านส่งเสริมการดูแลสุขภาพ โดยร่วมมือกับจังหวัดพิษณุโลก
– Liasion อำนวยความสะดวกนักปั่น โดยอาจารย์และนิสิตวิทยาลัยนานาชาติ พร้อมจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวร
– บูธดูแลกายภาพบำบัดให้นักปั่นและฟื้นฟูร่างกาย โดยอาจารย์และนิสิตคณะสหเวชศาสตร์
– กองเชียร์สุดมันส์ โดยนิสิตชมรมนันทนาการ และชมรมวงดนตรีลูกทุ่ง NU band มหาวิทยาลัยนเรศวร

เพื่อให้กำลังใจ และสร้างความบันเทิง แก่นักปั่นจักรยานบริเวณจุด START และ FINISH ในงานเทศกาลปั่นจักรยานทางไกลระดับโลก เลอแทป พิษณุโลก บาย ตูร์ เดอ ฟร็องส์ 2022 (L’Etape Phitsanulok by Tour de France 2022) ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน ในวันนี้ (4 ธันวาคม 2565) บริเวณหน้าพระราชวังจันทน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมโครงการ “ต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี”

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดโครงการ
ต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร ทองทา ผู้ช่วยอธิการบดี และ คุณนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมีนิสิตจิตอาสาเข้าร่วมปลูกต้นเสลา จำนวน 100 ต้น ที่บริเวณพื้นที่ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากกองบริการการศึกษา กองกิจการนิสิต กองอาคารสถานที่ และกองส่งเสริมการบริการวิชาการ จากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปลูกจิตสำนึกรักษ์ต้นไม้ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นสวยงามภายในมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจัดโดยกองบริการการศึกษา กองกิจการนิสิต กองอาคารสถานที่ และกองส่งเสริมการบริการวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ของมหาวิทยาลัยร่วมกันทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ปลูกจิตสำนึกรักษ์ต้นไม้ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นสวยงามภายในมหาวิทยาลัย

โดยร่วมกันปลูกต้นเสลา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 115 ต้น ทั้งนี้มี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย บุคลากร นิสิตจิตอาสา และผู้บริหารกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager: CIM) ระดับประเทศ

วันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ รัชดา ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมคณะ เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานและกิจกรรมการสําเร็จหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม ระดับประเทศ เพื่อสรุปผลการเรียนรู้และรับรองผลการจบหลักสูตร และแสดงถึงความพร้อมในการเป็นผู้จัดการนวัตกรรม ตลอดจนนำการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรและสังคมอย่างมืออาชีพ

โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคมหาวิทยาลัย กว่า 200 คน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 กิจกรรมศึกษาดูงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

วันที่ 2 ธันวาคม 2565
🔸กิจกรรมบรรยายพิเศษ หัวข้อ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
🔸กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม (Module 6)
🔸บรรยายพิเศษ หัวข้อ นวัตกรรมกับกลไกการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์การสนับสนุนของ LiVE platform
🔸พิธีมอบใบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรฯ ทั้งหมด 6 รุ่น และกิจกรรม National IS Pitching show จำนวน 12 คน
🔸กิจกรรมแชร์ประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตร CIM

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการรายงานค้นคว้าอิรสะของผู้จัดการนวัตกรรมทั้ง 3 ภูมิภาค

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin