ม.นเรศวร “เตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม”

วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมบุคลากรกองอาคารสถานที่ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรับทราบแนวทางการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ณ ห้องประชุม 2 กองอาคารสถานที่

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ได้มอบหมายให้ นายกฤษดา เกิดโภคา หัวหน้างานสาธารณูปโภคและซ่อมบำรุงพร้อมด้วยบุคลากร เริ่มดำเนินการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยั่งยืน ยืดอายุการใช้งานและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เดินหน้าโครงการ Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Smart City และ นวัตกรรมดิจิทัล

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารสัมมนา วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology เพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology ให้ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากแนวคิดของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็กระดับชุมชนและระดับ SMEs จะถูกบริหารจัดการในภาพรวมด้วยเทคโนโลยี SMART Microgrid ที่ชาญฉลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (Flexible Grid) และด้วยเทคโนโลยี Blockchain Network ที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อขายพลังงานกับผู้ผลิตหรือระหว่างกันเอง ณ เวลาที่เหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามแนวนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน โดยโครงการนำร่องสู่การพัฒนาธุรกิจจะขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัย เป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน  เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น  
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรม ย่อมต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรม การผลิตของประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการ ด้วยการสร้าง  Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เช่น startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

ที่มา:  วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี

เสวนา “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไรไม่เสี่ยงติดโควิด”

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 9.00 – 13.00 น. 

09.00-10.00 น. SARS-Cov-2 สายพันธุ์ต่างๆ การติดเชื้อผ่านละอองฝอยในอากาศ และการจัดการน้ำทิ้งและระบบถ่ายเทอากาศสำหรับครัวเรือนและโรงพยาบาลสนาม โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และ พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์

10.00-10.45 น. SARS-CoV-2 บนพื้นผิว : รับกล่องพัสดุ การทำความสะอาดเสื้อผ้า และพื้นผิวอาคารบ้านเรือนอย่างไรให้ไกลโควิด-19 โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

10.45-11.30 น. ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยแต่ละชนิด การล้างมือที่ถูกวิธี และการใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) โดย พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ และ รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล

11.30-12.00 น. การจัดการขยะครัวเรือนให้ห่างไกลการแพร่เชื้อ SARS-Cov-2 โดย ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา

12.00-12.15 น. การเสวนาหัวข้อ แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมในและนอกที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์, ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา, พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์, ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์, รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

12.15-12.35 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ

12.35-12.45 น. กล่าวปิดการประชุม  โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์

ดำเนินรายการ

โดย อุดมเดช เกตุแก้ว เลขานุการชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ

จัดโดย

  • สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 

คลิกรับแจ้งเตือนจาก Facebook Live เพื่อไม่พลาดเวทีเสวนาออนไลน์ ที่ (https://fb.me/e/4iazlwAE1) หรือรับชม Live บนเพจ

https://www.facebook.com/thaisej
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU

เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยจะจัดอีกครั้ง วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น. “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greennews.agency/?p=25309

ที่มา: greennews

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” ฟื้นฟูหลังโควิค

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” (Pattern Exhibition 2021) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” จัดขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นร้อยปี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงสร้างโอกาสฟื้นฟูอาชีพด้านหัตถกรรมและสร้างรายได้เพิ่มหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ที่ทำให้ชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายขาดรายได้หรือรายได้หดหาย สร้างรายได้และลดการเหลื่อมล้ำด้านรายได้ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้า ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ
โดยนิทรรศการได้รับความอนุเคราะห์ผ้า และเครื่องแต่งกาย จากคุณวีร์สุดา เม่นชาวนา (ร้านไหมไทยโบราณ) ซึ่งเป็นนักสะสมผ้า กว่า 50 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายจักสานจากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าขาวม้าจากโครงการพัฒนาและสร้างผู้ประกอบการด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าลายเหลือหางขาว จังหวัดพิษณุโลก กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าพิมพ์จากวัสดุธรรมชาติ จากโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าด้วยผ้าพิมพ์สีธรรมชาติเคลือบนาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน กว่า 20 ชิ้น และผ้าจากคลังสะสมพิพิธภัณฑ์ผ้า กว่า 20 ชิ้น รวมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ทั้งสิ้นกว่า 100 รายการ
ภายในพิธีเปิดยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมชมปั๊บ ลดปุ๊บ สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสานในโครงการและเลือกซื้องานจักสานในราคาพิเศษ พร้อมชมสาธิตจักสานจากกลุ่มจักสานบ้านท่าโรงตะวันตก กิจกรรมชอปปั๊บ ตัดปุ๊บ ซื้อผ้าขาวม้าลายเหลืองหางขาวจากกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมในราคาพิเศษ พร้อมรับสิทธิ์ตัดเย็บเครื่องแต่งกาย 1 ชุด โดยผู้สนใจรับชมนิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 15 กันยายน 2564 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 1207

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร ร่วมต้านโควิค-19

วันนี้ ( 13 เมษายน 2564) นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เปิดปฏิบัติการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โควิด-19 COVID-19 ที่ หอพักบุคลากรและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อความปลอดภัยของนิสิตและบุคลากร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร โครงการ NU Music Talent 2021 “ร้อง เต้น เล่นดนตรี”

ชมรม TO BE NUMBER ONE มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการ NU Music Talent 2021 “ร้อง เต้น เล่นดนตรี” โดยจัดประกวด 5 ประเภท ได้แก่ ขับร้องเพลงเดี่ยวไทยลูกทุ่ง, ขับร้องเพลงเดี่ยวเพลงไทยสากล, ขับร้องเพลงเดี่ยวสากล, Dance Contest และวงดนตรีโฟล์คซอง การประกวดแบ่งเป็น 2 รอบ รอบคัดเลือก จัดในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ณ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ รอบตัดสิน จัดในวันที่ 28 กุมภาพพันธ์ 2564 ณ โรงละคร อาคารเรียนรวมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร รับมอบใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ “NU Smart City”

วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ผศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ สังกัดวิทยาลัยพลังงานทดแทนฯ ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานสมาร์ทซิตี้ เข้าร่วมงาน “Thailand Smart City Week 2020” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยท่านอธิการบดีได้รับมอบใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ “NU Smart City” จากนายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล(Depa) โดย มน. เป็น 1 ใน 13 พื้นที่ที่ได้รับคัดเลือก มีวิทยาลัยพลังงานทดแทนเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน

ภายในงานจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบ Real Digital Event พร้อมแนวคิด REAL Solutions for REAL People in the REAL Smart Cities เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะระดับโลก พร้อมสานต่อการพัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร แนะตรวจสารพันธุกรรม COVID-19 ในน้ำเสียของสิ่งปฏิกูล

ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง บทความในนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าสหรัฐอเมริกาต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ ๓ เท่า จึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีอัตราการตรวจที่ ๑๐,๘๖๓ ต่อประชาการ ๑ ล้านคน ส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ ๑,๔๔๐ การตรวจต่อประชากร ๑ ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ ๗.๕ เท่า

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง นั่นคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำโสโครก หรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ ในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ ๑๒๘ กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ ๒๕ – ๕๐ ลิตรต่อคนต่อวัน โดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่า มีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระถึง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่า จ. พิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ ๘๖๖,๘๙๑ คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง ๙๐ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร หรือ ๔,๒๖๗ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร ตัวอย่างน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้ง จ. พิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย

นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน ๑,๐๐๐ คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด ๒๐๐ ห้อง มีคนอยู่ ๔๐๐ คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้น ๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไปโดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้ไวขึ้น ถึงขั้นนี้การดูประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยน่าจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ตรวจใส่ชุด PPE ก็เพียงพอแล้ว งานเก็บน้ำเสียจึงเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด แม้แต่สถานีอนามัยก็สามารถทำได้ หากได้รับการอบรมพื้นฐานมา ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมือง ทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin