Archives September 2022

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี พ.ศ.2564 มอบทุนการศึกษา สมทบกองทุนการศึกษาเพื่อนิสิต มน.

อขอบพระคุณคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี พ.ศ.2564 ที่ได้มอบทุนการศึกษา สมทบกองทุนการศึกษาเพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำนวนเงิน 21,062 บาท ทั้งนี้ ท่านผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี นายประจินต์ เมฆสุธีพิทักษ์ เป็นผู้แทนในการส่งมอบ ขอขอบพระคุณทุกท่าน ไว้ ณ โอกาสนี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

การให้บริการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะคลอดและหลังคลอด

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีภารกิจในด้านการเรียนการสอนและให้บริการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะคลอดและหลังคลอด โดยเห็นว่าคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ “อาศรมเสลา” คณะสาธารณสุขศาสตร์ มีบริการรักษาโรคฟื้นฟูสุขภาพด้วยทีมแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย (แบบราชสำนัก) อบไอน้ำ ประคบสมุนไพร โดยเฉพาะการนวดและประคบหม้อเกลือในสตรีหลังคลอดบุตร ซึ่งมีความสอดคล้องด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับ การจัดการเรียนการสอน รายวิชาสุขภาพและโรคของสตรี 1-2 สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 จึงได้จัดกิจกรรมให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 เข้าศึกษาดูงาน ณ คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ “อาศรมเสลา” คณะสาธารณสุขศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การบริหารจัดการน้ำชุมชนภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คลองยม-น่าน

มหาวิทยาลัยนเรศวร และ กรมชลประทานพร้อมเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองยม-น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดย รศ ดร เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ คณะเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผลงาน “การบริหารจัดการน้ำชุมชนภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คลองยม-น่าน “ได้รับรางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย ของรัฐสภา ระดับดีมาก ในกิจกรรมการประกวดรางวัลนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2565 ณ อาคารรัฐสภา

วันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 11.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เป็นประธานมอบรางวัลนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประชาธิไตยประจำปี 2565 ระดับดีมาก ให้กับผลงาน “การบริหารจัดการน้ำภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” โดยกรมชลประทานร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองยม-น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่งเข้าประกวด ซึ่งรางวัลดังกล่าวนี้ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบให้กับชุมชน องค์การ ที่ได้ร่วมกันหาทางออกจากปัญหาภายใต้หลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

ม.นเรศวร ประชุมหารือเรื่องการให้บริการสนามกีฬาและสถานที่ออกกำลังกายภายในมหาวิทยาลัย

กองกิจการนิสิต และกองอาคารสถานที่ ประชุมหารือเรื่องการให้บริการสนามกีฬาและสถานที่ออกกำลังกายภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมกองกิจการนิสิต

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เพิ่มสัญญาณ Wi-Fi ห้อง Common Room หอพักอาคาร 1 – 15

เมื่อวันที่ 26 – 27 กันยายน 2565 กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณ Wi-Fi ห้อง Common Room เพิ่มเติม ในหอพักอาคาร 1 – 15 จำนวนอาคารละ 2 จุด ทั้งนี้เพื่อขยายพื้นที่การใช้งาน Wi-Fi ให้มีขอบเขตที่กว้างขึ้น เสถียรขึ้น รวดเร็วขึ้น และครอบคลุมขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังช่วยจัดการกับปัญหาของมุมอับสัญญาณต่าง ๆ ภายในอาคารสถานที่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการให้บริการ สนับสนุน และพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และปฏิบัติงานด้านต่างๆ ของนิสิตหอพัก ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดพื้นที่ให้บริการอย่างเท่าเทียมแก่ผู้พิการทางสายตาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด

มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดพื้นที่ให้บริการอย่างเท่าเทียมแก่ผู้พิการทางสายตาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิ กระเป๋าเงิน พวงกุญแจ ตุ๊กตา เป็นต้น เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพ ในระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2565 ณ ศูนย์อาหาร NU Square

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

“มหาวิทยาลัยนเรศวร”เดินหน้าเปิดคลินิกกฎหมายนเรศวร เพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวการจัดตั้ง “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” มุ่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติและการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติจึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยว่า สถานะคนไร้รัฐสัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติอยู่นับแสนๆ คน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จากข้อมูลจำนวนราษฎรทั้งหมด 66,171,439 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47 ซึ่งภาวะไร้สัญชาติ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติและการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติ จึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม

ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแก่นิสิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งสิ้นประมาณ 27 คน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คละพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ นิสิตจบการศึกษาแล้ว 17 คน (มีสัญชาติไทย 13 คน ไร้สัญชาติ 4 คน) และกำลังศึกษาอยู่ 10 คน (ไร้สัญชาติ 10 คน) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ กว่า 200 คน และช่วยให้บุคคลไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 322 คน ไร้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล

ด้านนางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยถึงความลำบากและปัญหาในการไม่มีสัญชาติไทยว่า การขอทุนการศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท ไม่สามารถทำได้ และการเดินทางมาเรียน คนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยจะต้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งในการไปขอแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมาก ซึ่งสัญญาเพียง 1 ปี เมื่อครบสัญญาก็ต้องไปต่อใหม่ และที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ปัญหาตรงนี้ทำให้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งสมัครสอบ ก.พ. เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย

มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญการเป็นพลโลก/พลเมืองโลก หรือ Global Citizenship เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์การเป็นพลโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ปัญหาสำคัญคือทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นความท้าทายของเราในฐานะสถาบันการศึกษาในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ได้ เราจะผลิตบัณฑิตเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นพลโลก เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับผู้ที่สนใจ หรือมีปัญหาสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Facebook : คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เบอร์โทร. 0-5596-1739 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: dailynews

ม.นเรศวร จัดโครงการปลูกรักปลูกเสลา(Your Home Always)

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 กองกิจการนิสิตร่วมกับกองอาคารสถานที่และชมรมอดีตผู้นำนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการปลูกรักปลูกเสลา(Your Home Always) ขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แห่งความสุขของทุกคน (NU Happy All) ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณสระสุริโยทัย โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมทั้งคณะผู้บริหารมหวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่า ร่วมบริจาคสมทบทุนในการจัดซื้อและร่วมปลูกต้นเสลา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็น “อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของ SMEs สู่ธุรกิจชุมชนไทย”

รศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางาน NU SMART CITY SGtech และ ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร ศิษย์เก่ารหัส 59 สาขาพลังงานทดแทน SGtech เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็น “อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของ SMEs สู่ธุรกิจชุมชนไทย” ในงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) นิทรรศการนานาชาติด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ฯ ในวันที่ 16 กันยายน 2565

– รศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ บรรยายหัวข้อ “แนวโน้มการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับการใช้งานในภาคชุมชน”

– ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร บรรยายหัวข้อ “การปรับตัวและแสวงหาแนวทางเพิ่มศักยภาพคนในพื้นที่ชุมชนตนเอง”

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผู้สูงอายุชาวระนอง ยิ้มร่าใส่ฟันเทียมพระราชทาน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่โรงพยาบาลระนอง หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร นำโดย อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.พรพจน์ เจียงกองโค เลขานุการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร พร้อมกับเหล่าทันตแพทย์อีก 30 ท่าน ลงพื้นที่ใส่ฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีฟันเลยให้ได้ใส่ฟันเทียมทั้งปาก เสร็จภายใน 1 วัน 28 ราย

อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ยศณรงค์ ศิริเมธาวงศ์ ทันตแพทย์ประจำ ม.นเรศวร กล่าวว่า โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งขึ้นมาร่วม 5 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไร้ฟันในถิ่นทุรกันดาร ที่เดินทางไปมาลำบาก และห่างไกลความเจริญ โดยจุดเด่นหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จากเดิมผู้ไร้ฟันต้องเดินทางมาทำฟันเทียม 4-5 ครั้ง ใช้เวลา 1-2 เดือน เราสามารถให้บริการทำฟันเทียมทั้งปากภายในวันเดียว (complete denture in one day) ให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยไร้ฟันชาวไทยทุกคน และการเดินทางมาใส่ฟันเทียมพระราชทานที่ จ.ระนอง เพราะได้รับทราบข้อมูลว่า ในพื้นที่ยังขาดแคลนทันตแพทย์สำหรับใส่ฟันปลอม ให้กับประชาชนอีกนับร้อยนับพันราย โดยข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยบางราย รอคิวใส่ฟันมาร่วม 2 ปี นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่หน่วยฯสามารถเข้ามาช่วยการบริหารจัดการผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ทางฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลระนอง ได้ให้การดูแลและสนับสนุนด้วยดี

นายห้วน พัฒมาก วัย 81 ปี เดินทางมาจากพื้นที่ในหุบเขา ต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง กล่าวน้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานฟันเทียมมาให้ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ลูกๆทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าให้มีความเจ็บความไข้ ขอให้มีอายุยืนอยู่ไปนานๆ และอวยพรให้ทุกคน ได้ถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 ถ้าถูกกันทุกคน พร้อมยิ้มอย่างมีความสุข หลังได้รับการใส่ฟันเทียมพระราชทาน

ที่มา: dailynews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin