ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศฯ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควันเพื่อการบริหารจัดการชุมชน ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทยมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวนำปฐมบท “บทบาทการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย” และได้รับเกียรติจากนายวรฤทธิ์ ประเสริฐ และนางสาวกมลฉัตร ศรีจะตะ จากสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหลือตอนล่าง(GISTNU) มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรบรรยาย ให้กับบุคลากรหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการพัฒนาสังคมและชุมชน โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (โครงการ SECRA และโครงการ FOUNTAIN ภายใต้การสนับสนุนของโปรแกรม ERASMUS+ จาก EU

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร บริการน้ำดื่มฟรี

หอพักนิสิต มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ผ่านขั้นตอนการกรองน้ำอย่างมีคุณภาพ โดยมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำใหม่เพื่อสุขอนามัยของทุกคน ดื่มน้ำสะอาดพร้อมติดตั้งบนเครื่องทำน้ำร้อน น้ำเย็น เพื่อให้บริการแก่นิสิตในหอพักมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความสำคัญต่อการบริการนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ถูกสุขอนามัย บริการทั้งในส่วนอาคารเรียนต่างๆ และหอพักนิสิต รวมถึงบุคลากร ให้เข้าถึงบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัยถูกหลักสุขอนามัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่มา: หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร NU Dorm

การผลิตน้ำประปา การจัดหาน้ำสะอาดและการจัดการคุณภาพน้ำของมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 67 คน อาจารย์ ณัฐพงศ์ โปรยสุรินทร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ เพื่อเข้ามาศึกษาดูงานการผลิตน้ำประปา การจัดหาน้ำสะอาดและการจัดการคุณภาพน้ำของมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศเป็นไปด้วยน่ารักและความอบอุ่น ณ โรงผลิตน้ำประปา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า

วันอนุรักษ์น้ำโลก หรือ World Water Day ตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว เพราะมนุษย์เราต้องใช้ทรัพยากรน้ำในการดำรงชีวิต

วันอนุรักษ์น้ำโลก มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในวันที่ 22 มีนาคม ปี 1992 ที่มีเนื้อหาสำคัญโดยตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำของมนุษย์ จึงมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมที่จะเป็นแผนแม่บทให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เฝ้าระวังทรัพยากรน้ำในประเทศนั้น ๆ และในวันนั้นเองสมัชชาทั่วไปแห่งสหประชาชาติก็ได้ออกประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน World Water Day หรือ วันอนุรักษ์น้ำโลก

โดยทางองค์การสหประชาชาติจะกำหนดธีม หรือหัวข้อประเด็นของวันอนุรักษ์น้ำโลกในแต่ละปีแตกต่างกันออกไป ซึ่งแม้การรณรงค์ในวันน้ำโลกจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ แต่การกำหนดหัวข้อของวันน้ำโลกในแต่ละปีนั้นถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำที่เชื่อมโยงกับประชากรโลกได้เป็นอย่างดี และในปี 2023 ได้กำหนดธีมรณรงค์ไว้ คือ Partnerships and Cooperation for Water

มหาวิทยาลัยนเรศวร เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมการอนุรักษ์น้ำ และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำภายในมหาวิทยาลัย หมุนเวียนการใช้น้ำเพื่อลดการใช้อย่างศูนย์เปล่าโดยการนำน้ำเสียจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น รดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ การรณรงค์ร่วมมือกันประหยัดน้ำ โดยมี อาจารย์ บุคลากร และนิสิต เข้ามามีส่วนร่วม “รู้คุณค่า และใช้น้ำให้เกิดประประโยชน์”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความสำคัญต่อการบริการนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ถูกสุขอนามัย บริการทั้งในส่วนอาคารเรียนต่างๆ และหอพักนิสิต รวมถึงบุคลากร ให้เข้าถึงบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัยถูกหลักสุขอนามัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำสะอาดและน้ำเสีย ให้ความรู้กับหน่วยงาน นิสิต และภาคประชาชนที่สนใจ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและชุมชน รวมถึงมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขกฤติเกี่ยวกับแหน่งน้ำ หรือโรคที่มากับน้ำ ผ่านความร่วมมือและงานวิจัย เป็นต้น

ที่มา: kapook.com

ศึกษาดูงานระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับ อาจารย์อำพล เตโชวาณิชย์ และคณะศึกษาดูงานนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ปีที่ 3 จำนวน 59 คน เพื่อศึกษาดูงานระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ สถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ลอกคลองน้ำทิ้งชุมชน ม.นเรศวร

เมื่อเวลา 13.30 น. วันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าในการลอกคลองน้ำทิ้งจากชุมชนลงคลองหนองเหล็ก ขอขอบคุณ นายธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ในการประสานงานเครื่องจักรกลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกและขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นวัตกรรมการตรวจเชื้อ ‘โควิด-โอมิครอน-ฝีดาษลิง’ ในน้ำเสีย ที่มาจากเครื่องบิน สนามบิน และชุมชน เครื่องมือเฝ้าระวังโรคระบาดและไวรัสกลายพันธุ์ หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน

รายงานจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ชี้แจงว่า คณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานเพื่อการรับมือโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน สั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นตรวจน้ำเสียจากบ้านเรือนที่เข้าสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย 

ขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศ เช่น เบลเยียม แคนาดา ออสเตรีย และออสเตรเลีย ก็มีนโยบายประกาศให้สั่งตรวจ “น้ำเสีย” ของเครื่องบินที่มาจากจีน รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงในอัตราการติดเชื้อ ปริมาณไวรัส และทำการถอดลำดับพันธุกรรมไวรัส เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาด และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสหลังการเปิดประเทศ

ซึ่งประเทศไทยได้ใช้นวัตกรรมตรวจหาน้ำเสียเพื่อหาเชื้อโควิด-19 และฝีดาษลิงในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินเชียงใหม่ มาเป็นระยะเวลา 9 เดือน (มกราคม 2565 – กันยายน 2565) และได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ว่าจะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเที่ยวบินที่มาจากจีนในไตรมาส 2566 นี้ด้วย

โครงการวิจัยดังกล่าวนำร่องจาก “วิจัยว่าการตรวจเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน” มีผู้วิจัยคือ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร งานวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจว่า การตรวจวัดเศษซากเชื้อโควิด-19 โอมิครอน และฝีดาษลิงในน้ำเสียโสโครกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ทำได้โดยการตรวจน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ 

ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะ ที่มาจากผู้โดยสารในเที่ยวบิน ทั้งการใช้ห้องน้ำบนเครื่องบิน และห้องน้ำในสนามบินขาเข้า-ขาออก ซึ่งผลการตรวจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะไม่พบเชื้อไวรัส 

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังใช้การตรวจดังกล่าวกับน้ำเสียในชุมชนต่าง ๆ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก และยะลา การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสีย สามารถนำไปประยุกต์เพื่อเฝ้าระวังอีกหลาย ๆ ด้าน แบ่งออกเป็นดังนี้

  1. เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด และแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน กลุ่มอาคาร (คอนโด) และอาคาร (โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร สถานที่ราชการ) 
  2. คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าว ๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการในระดับชุมชน หรือกลุ่มอาคาร
  3. ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนของเมือง
  4. ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรการ
  5. ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ
  6. เฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ
  7. ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อในชุมชน

“ในขณะนี้กำลังพัฒนาเพื่อสามารถตรวจเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ เช่น ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ โดยใช้วิธีการเดียวกันคือ เก็บน้ำเสียมาตรวจไวรัส 4-5 ชนิด” ผศ.ดร.ธนพล กล่าว 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นิยามของประโยคที่ว่า “การเสียชีวิตจากโควิด-19” ของทางการจีน ซึ่งทาง WHO ระบุว่า สถิติอย่างเป็นทางการของจีนสะท้อนภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล หรือตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากรายงาน Why monitor wastewater of flights arriving from China for Covid? มองว่า มาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำเสีย จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่ขาดหายไปจากจีนได้เป็นอย่างดี “การได้รู้ว่า ผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ตัวเลขที่เชื่อถือได้นั้นขาดหายไป”

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวเข้ามายังคงต้องใช้เทคนิค RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรมจากตัวอย่างน้ำเสียถือเป็นการป้องกันเชิงรุกที่สำคัญ 

เพราะเมื่อมีการตรวจวินิจฉัยเชื้อได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ และเฝ้าระวังไวรัสที่จะกลายพันธุ์ได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ม.นเรศวร ร่วมวางแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบึงกาฬ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้ง ผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า จังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งหมดเท่ากับ 880.27 ตร.กม. และในรอบ 10 ปี จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมดเท่ากับ 237.264 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้ง

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน พบว่า มีระบบประปาหมู่บ้าน 574 หมู่บ้าน ไม่มีระบบประปา 43 หมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา

ที่มา: dailynews

สทนช. ร่วมมือ ม.นเรศวร วางแผนสำรองน้ำต้นทุนในฤดูฝน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภัยแล้ง อย่างมีประสิทธิภาพ

สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ

แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

โดย สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” “โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาและรักษาน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” ณ “สถานีผลิตน้ำคลองกะทะ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต” “ขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล” และ “โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ” โดยคาดว่าโครงการข้างต้น จะช่วยสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและติดตามผลการการศึกษาของโครงการ ซึ่ง สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ด้านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานศึกษาวางโครงการเบื้องต้น สำหรับโครงการที่มีความเร่งด่วน ตามแนวทางการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างน้อย 6 โครงการ

จากการศึกษาพบว่า จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำ 21.53 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุมน้ำและขุมเหมือง 21.02 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดเล็ก 9.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำบาดาล 27.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 87.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 และในปี 2583 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 104.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะความต้องการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการน้ำถึง 23.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 33.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.89 และ 31.62 ของความต้องการน้ำทั้งหมดต่อปี

พื้นที่ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” แหล่งผลิตน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

“การเพิ่มศักยภาพให้แก่การสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ จากการศึกษา ได้มีการวางโครงการเบื้องต้นแล้ว จำนวน 6 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” นายสราวุธ กล่าว

โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต

ทางด้าน รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมแผนการดำเนินการจัดการน้ำพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในการจัดการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่ทาง สทนช. ได้มีการวางนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาไว้อุปโภค-บริโภค ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสูงสุดในการรองรังรับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในอนาคต

รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญในอนาคต ประกอบกับทาง สทนช. ได้มีแผนการดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ และดูแลในส่วนของคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงและลดการปนเปื้อน

คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. เยี่ยมชมขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล
คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. ติดตามโครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แหล่ง จะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจากทั้ง 4 แหล่ง ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตรงนี้จะมีทั้งกรมชลประทาน ที่ดูแลในพื้นที่ชลประทาน เข้าไปสำรวจหน่วยงานในท้องถิ่นที่มีแหล่งผลิตระบบน้ำประปาด้วยตัวเอง รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ยังไม่เคยรวบรวมมาไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ทาง สทนช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อรวมแผนหลักให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน

โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

“ถ้าหากแผนงานทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยตามกระบวน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เราจะขับเคลื่อนผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตัวแผนบูรณาการที่จะทำต่อไปก็จะเป็นแผนอีก 15 ปีถัดมา ว่าภายใน 15 ปีจะเกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต และในอีก 15 ปีจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้เราจะนำแผนมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และในพื้นที่ เพื่อทำแผนนำเสนอต่ออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และเสนอไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้อนุมัติแผน เพราะฉะนั้นแผนทั้งหมดจะขับเคลื่อนโดยผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการบูรณาการน้ำกันแล้วก็จะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วเพียงพอหรือไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่อไปก็จะมีประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาข้อมูลใน 4 พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการแผนต่อไป” นายนิธิเดช กล่าว

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร ให้ความรู้ระบบการทำงานของสถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง

กองอาคารสถานที่ยินดีต้อนรับ คณะศึกษาดูงานคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา ชั้นปีที่ 4 วันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา ชั้นปีที่ 4 โดย ดร.ศิริวัฒน์ คูเจริญไพบูลย์ อาจารย์ผู้ควบคุม เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาระบบการทำงานของสถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ในรายวิชาจุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ สถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin