นักวิจัย ม.นเรศวร เผย 4 ฉากทัศน์สำคัญลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านการปฏิบัติจริงนำมาปรับใช้ใน กทม.

ข่าว 3 มิติ ยังติดตามปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติเเล้ว ด้านนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอ 4 ฉากทัศน์สำคัญที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลงได้ นำเสนอผ่านพื้นที่จริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว สู่การปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: ข่าว3มิติ

วิกฤตฝุ่นตอนนี้เป็นอย่างไร? และ ความเป็นไปได้ในการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงทิศทางที่จะเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

เอาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ข้อมูลที่เรานำมาจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ เครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอยซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ปี 2022 มีวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ WHO แนะนำ ประมาณ 249 วัน ถือว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่จะรับสารก่อมะเร็งและโรคหัวใจเกินค่าที่จะยอมรับได้ ถ้ารวมทุกเขตของ กทม. จะพบว่า มีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานของ WHO อยู่ 1,131 วัน 

ข้อมูลจาก World Bank บอกไว้ว่า PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4,486 คน ต่อปี เฉพาะแค่ใน กทม. และนับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของ กทม. อยู่ที่ประมาณ 4.51 แสนล้านบาทต่อปี

งานวิจัยของเราในระบบ ววน. มีงานวิจัยอยู่ประมาณ 200 กว่าโครงการที่ทำเรื่องฝุ่น ใช้งบประมาณไปเกือบ 600 ล้านบาท เรามีหลายนวัตกรรมที่จำแนกและติดตามฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sensor ดาวเทียม และการเก็บตัวอย่าง เครื่องกรองฝุ่น หน้ากาก แผ่นกรอง แอปพลิเคชัน การลดการเผา

ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 อัตตาหิอัตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จริง ๆ แล้ว กทม. มีความพร้อมทางโครงสร้างในการทำให้เราช่วยตัวเองได้อยู่ เพราะถ้าเราไม่มีโครงสร้างอย่างตัว 70 สถานี ที่ช่วยให้ประชาชนปกป้องตัวเองได้ ยกตัวอย่างเครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอย ที่จะมีการแจ้งฐานเข้าข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คล้ายกับแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ดูว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา แปลว่า ถ้าเราจะอัตตาหิอัตโนนาโถ ก่อนที่เราจะออกไปไหน เราต้องดูค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ระดับไหน ถ้าขึ้นสีเขียว สีฟ้า เราก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  แต่ถ้าเริ่มเป็นสีส้ม สีแดง แปลว่าเราต้องทำมาตรการบางอย่าง ต้องใส่หน้ากาก เปลี่ยนกำหนดการ หรือยังไม่ออกจากบ้าน มีหลากหลายมาตรการในการอัตตาหิอัตโนนาโถ  

ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากเครื่องของดัสท์บอย 150,000 คนต่อปี จำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก โดยในจำนวนนี้ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี ดังนั้นจากงานวิจัยทำให้เห็นว่า เราขาดระบบการกระตุ้นให้คน กทม. เข้าถึงการใช้ข้อมูล ทั้งจาก Sensor และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ในการปกป้องตัวเอง 

อย่างไรก็ดี การปกป้องตัวเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายในการจัดแจงเปลี่ยนตารางต่าง ๆ ซึ่ง ผศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ ทำข้อมูลมาว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราอาจจะแบกไว้โดนไม่รู้ตัว 

ฉากทัศน์นี้ จริง ๆ ค่อนข้างดี เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อม เช่น สถานีวัดคุณภาพอากาศที่เรามีกว่า 70 สถานี อีกทั้งยังมีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นที่ต้นตอ เรายังอยู่กับฝุ่นและไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันลดความเสียหายของชีวิตได้ทันทีที่เราใส่หน้ากาก พยายามหลีกเลี่ยงฝุ่น การจะทำให้เป็นระดับนั้นได้ ต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งค่อนข้างยาก จริง ๆ สหรัฐอเมริกา และยุโรปเองก็มีการใช้ฉากทัศน์นี้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นฉากทัศน์เสริม ไม่ใช่ฉากทัศน์หลัก

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า

ฉากทัศน์นี้หลาย ๆ คนรออยู่ เพราะได้ข่าวว่า ฉากทัศน์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ กทม. และประเทศไทย 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 บอกว่า มีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากการขนส่งหรือการจราจร 59% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านให้เป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และถ้าเราทำได้ตามเป้าใน 14 ปี จะสามารถลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ ดังนั้นฉากทัศน์นี้ไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะจากการคำนวณดูแล้ว ถ้าปรับตามเป้าใน 14 ปี จะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงได้ 52.38% คือลดจาก 1,131 วัน เหลือ  538 วัน และจะลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน กทม. ได้ประมาณ 2,350 คนต่อปี ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจใน กทม. ได้ประมาณ 2.36 แสนล้านบาทต่อปี 

เรามีความพร้อมแค่ไหน เราสามารถซื้อรถเข้ามาได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเองก็มีการทำงานวิจัยต้นแบบรถในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถไฟฟ้ารางเบา รถโดยสารระหว่างเมือง รถจักรยานไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรม

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่า รถไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยงานวิจัยนวัตกรรมของไทยมันใช้ได้ดีจริง ๆ และจะใช้ตัวนี้เพื่อความยั่งยืนต่อไป เรายังต้องการงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะภาระจะตกไปอยู่กับเจ้าของรถที่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเยอะ เอกชนก็ต้องมีการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน

ฉากทัศน์นี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเป็นฉากทัศน์ที่ดีตรงผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งยังต้องมีการปรับและเตรียมการเยอะ

ฉากทัศน์ที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาด (ขึ้น) 

เป็นฉากทัศน์ที่ต่างประเทศมีกฎหมายมา 40-50 ปี ใช้เป็นฉากทัศน์แรก คือการจัดการที่ปลายปล่อง หรือแหล่งกำเนิด ทำให้อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น เหมือนที่ กทม. มีการไปสำรวจปลายปล่องที่ปลดปล่อยมลพิษด้านฝุ่น 

ฉากทัศน์นี้ทาง Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฉากทัศน์แรก เพราะจัดการง่ายสุด โรงงานอยู่นิ่ง ๆ ปลายปล่องตรวจวัดได้ สามารถจัดการได้ โดยข้อมูล กทม. บอกว่า 20% ของ PM 2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ความจริงเทคโนโลยีของการปลดปล่อยมลพิษจากปลายปล่องของต่างประเทศดีกว่าที่เราใช้มาก ๆ ลดได้ประมาณ 90% แต่กฎหมายบ้านเรา การปลดปล่อยปลายปล่อง ปล่อยเท่า ๆ กันหมดเลย ไม่ว่าโรงงานนั้นจะอยู่ที่ไหน ขอแค่เป็นโรงงานประเภทนี้ ลักษณะแบบนี้ปลดปล่อยเท่ากัน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีมลพิษอากาศหนักแค่ไหน

ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศหนักอยู่แล้วใน กทม. หรือบางเขตมีการสร้างโรงงานใหม่ หรือโรงงานที่มีอยู่แล้ว ปลดปล่อยได้เท่ากับที่ที่มีอากาศสะอาดเลย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล กฎหมายของต่างประเทศบอกว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ มี PM 2.5 มีมลพิษอากาศอื่น ๆ เป็นค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม ดังนั้นเขาต้องติดตั้งระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานอื่นที่มีอยู่ เพื่อให้มลพิษที่ปลดปล่อยไม่เกิน กฎหมายนี้บ้านเราไม่มี เราสามารถปรับโรงงานในบ้านเราให้ลดการปลดปล่อยมลพิษได้ 75% ผมว่าสบายมาก ผมเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ

ถ้าเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปได้ 16.53% หรือประมาณ 944 วัน ก็ยังไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่แก้ไขปัญหาได้อยู่ดี แต่จะลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 733 คนต่อปี และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้ประมาณ 0.74 แสนล้านบาทต่อปี แต่น่าเสียดายว่า พอเราไม่มีกฎหมายที่ทำให้การผลิตสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยเทคโนโลยีการทำให้การบำบัดปลายปล่องดีขึ้นแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีความต้องการ ขณะที่ต่างประเทศพัฒนาดีขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 90%  ซึ่งดีกว่าที่เราใช้อยู่มาก ๆ 

ดังนั้นในฉากทัศน์นี้เราต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาก่อน และเราต้องพัฒนาเดินหน้าต่อ ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่จัดการได้ง่าย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะเป็นผู้จ่าย ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องกำกับอย่างเข้มงวด อย่างที่ กทม. ทำ ต้องมีการทำ PRTR  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การใส่ใจการผลิตที่สะอาดโดยภาคประชาชน  

ฉากทัศน์ที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค

เป็นฉากทัศน์ที่ใช้ได้กับฉากทัศน์ 2 และ 3 ด้วย แต่อันนี้เอามาจับกับเรื่องชีวมวล โดยงานวิจัยของกรุงเทพฯ พบว่า PM 2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลมีประมาณ 20% ซึ่งจะเห็นว่าเรามีนวัตกรรมหลายทางเลือกในการผลิตให้สะอาดขึ้นจากการเผาชีวมวล ทาง สกสว. เคยจัดงานเสวนาปีที่แล้ว และได้คุยกับโรงน้ำตาลมิตรผลใช้จริงที่ จ.สิงห์บุรี เก็บอ้อยสด และไม่มีการเผาอ้อย เอาใบอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการรับซื้อในอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตแบบสะอาด ที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ PM 2.5 ได้ ถือเป็น 1 ในทางเลือก หรือถ้าจะต้องเผาจริง ๆ ผู้เผาสามารถจองผ่านแอปพลิเคชันอย่างไฟดี (FireD) ได้ ที่เชียงใหม่ใช้แล้วลดการเกิด Hot Spot ได้ประมาณ 60% ทำให้ค่ามลพิษไม่เกินค่าที่ยอมรับได้

แต่ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแบบนี้ แต่การใช้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำให้กำไรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้ผลิตไม่ใช้ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 80% ปัญหาก็กลับมาว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช่ ก็เพราะเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรมากระตุ้น

รู้ไหมว่า น้ำตาลที่เราซื้อ เสื้อผ้าที่เราใส่ หรือขนม 1 ถุงที่เรากินมันปลดปล่อย PM 2.5 เท่าไหร่ พอเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ถูกได้ ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงก๊าซเลือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอันที่เราซื้อ มีการปล่อยก๊าซเลือนกระจกเท่าไหร่ แนวคิดเดียวกัน ถ้าเรามาใช้กับ PM 2.5 มลพิษอากาศมันเทียบได้เลยว่าแต่ละอย่างปลดปล่อยมลพิษทางอากาศไปเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราตอนจัดการเรื่องฝุ่นอยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูลเราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราจะซื้อตู้เย็นสักตู้ จะเห็นฉลากเบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ตอนนี้มีใครเจอเบอร์ 3 กับเบอร์ 4 บ้าง ไม่มีแล้ว เลือกเบอร์ 5 กันหมด คนซื้อเลือกซื้อเบอร์ 5 เพราะมันประหยัดในหลาย ๆ เรื่อง ดีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทำให้เกิดทิศทางที่สะอาดขึ้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่า อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ตอนเงินอยู่ในมือเรา เราไม่สามารถขอให้คนอื่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องแก้เอง แต่ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลที่จะตัดสินใจ เรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อม ฉลากในการลดการปลดปล่อยมลพิษจะช่วยเรามาก ๆ 

ถ้าเราเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ในกรุงเทพฯ จะช่วยลดการปลดปล่อยได้ประมาณ 16%  ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 746 คน และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้อีกประมาณ 0.75 แสนล้านบาท แต่ถ้าใช้ในต่างจังหวัด ช่วยได้มาก

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่มีทางที่ทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วจะจบ หลายทางเลือกอาจจะต้องประกอบร่วมกัน

NU Transit : ตัวช่วยในการวางแผนการเดินทาง ที่จะทำให้คุณถึงจุดหมายได้ทันเวลา

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา Web Application แสดงการเดินรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรและประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า ให้สามารถตรวจสอบการเดินรถไฟฟ้าในขณะที่ต้องการใช้งานว่าอยู่จุดไหน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ เป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริงการใช้รถไฟฟ้า และลดการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลส่วนบุคคลลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ด้วยการแสดงข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าแบบ Real Time โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://transit.nu.ac.th/ และยังสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า ทั้งสายสีเหลือง และสายสีแดง ที่ทางมหาวิทยาลัยมีให้บริการได้อีกด้วย

สามารถใช้งานร่วมกับ NU Map เพื่อทราบตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ได้ที่ https://numap.nu.ac.th
ที่มา: กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ม.นเรศวร ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission ประกาศใช้มาตรฐานลด “ก๊าซเรือนกระจก” 7 มาตรฐานต่อเนื่อง

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหนึ่งในหน่วยงานกว่า 200 รายทั่วประเทศ ที่สามารถนำมาตรฐาน Net Zero Emission ไปใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์กว่า 50 ล้านตันต่อปี และเคยได้รับโล่เกียรติยศ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. & องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ณ งาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ภายใต้แนวคิด “Climate Actions – Together”

         กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission เดินหน้าประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง  เผยภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้วกว่า 50 ล้านตัน  

         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานข้อกำหนดและข้อแนะนำระดับองค์กร การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์  มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานสำหรับหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ประกอบการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วกว่า 200 รายทั่วประเทศ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 15 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วกว่า 50 ล้านตัน ซึ่งมาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 มาตรฐานที่ สมอ. ได้ประกาศใช้เป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) หรือมาตรฐานระบบการจัดการขององค์กรที่กำหนดโดย ISO หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization – ISO) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการในประเทศ โดย สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO ได้นำมาตรฐานดังกล่าวมาประกาศใช้ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ 166 ประเทศสมาชิกของ ISO ที่ได้ร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันมาตรฐานโลกปีนี้ว่า “วิสัยทัศน์ร่วม เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม มาตรฐานสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SHARED VISION FOR A BETTER WORLD STANDARDS FOR SDGs)” โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคม  การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และการชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ภายในปี 2573

         ด้าน นายบรรจง  สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 200 รายทั่วประเทศนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วพบว่า สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้กว่า 50 ล้านตัน ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลจากหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด  2) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ  3) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  4) วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร  5) หน่วยรับรองการจัดการก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยพะเยา  6) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด  7) บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  8) บริษัท อีซีอีอีจำกัด  9)  บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด  10) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 11)  หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 “นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางดินอีก 1 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานการจัดการเพื่อมุ่งสู่การฝังกลบกากอุตสาหกรรมเป็นศูนย์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การวิเคราะห์การไหลของกากอุตสาหกรรม วิธีการในการลดกากอุตสาหกรรม  การคำนวณการลดกากอุตสาหกรรม  และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น หากสถานประกอบการนำมาตรฐานนี้ไปใช้จะสามารถลดของเสียได้ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้กากอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปฝังกลบเหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเหลือการฝังกลบกากอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

จัดระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ให้นิสิตได้ใช้เดินทางฟรี!! ลดการพึ่งพาน้ำมัน

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าให้นิสิตได้ใช้เดินทางฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และลดการใช้รถจักรยานยนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยลด PM 2.5 แถมยังช่วยประหยัดการใช้น้ำมันทุกวันตลอดทั้งปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บรรยากาศวันเปิดเทอมเป็นไปอย่างคึกคัก มีนิสิตจากทั้งในและต่างจังหวัด ทุกชั้นปีจำนวนประมาณ 26,000 คน กลับเข้ามาเรียนออนไซต์ ภายในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่นิสิตจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อความสะดวกในการเดินเรียน เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างพันกว่าไร่

ขณะเดียวกัน นิสิตบางส่วนเลือกใช้บริการ ระบบขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จัดรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ขนาด 35-40 ที่นั่ง มี 16 คัน และขนาด 11-14 ที่นั่ง มี 5 คัน รวม 21 คัน เอาไว้ให้นิสิตใช้ในการเดินทางเพื่อความประหยัด ลดค่าใช้จ่าย จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และยังเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า นิสิตพากันออกมาใช้บริการกันตลอดเวลาและทุกเส้นทางที่โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเส้นทางเดินรถเอาไว้ ตั้งแต่ เวลา 07.00 น.ถึง 19.30 น.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย ตันรัตนวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มมาตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2555 หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา และนิสิตส่วนใหญ่ นิยมใช้รถจักรยานยนต์ในการขับขี่ ซึ่งค่อนข้างสิ้นเปลืองและไม่ปลอดภัย จึงอำนวยความสะดวกให้แก่นิสิต ด้วยการจัดหารถขนส่งมวลชนและปรับเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษในมหาวิทยาลัย โดยรถขนส่งมวลชน เริ่มรับนิสิตจากหอพักไปส่งยังตึกเรียนต่างๆ โดยรถจะทยอยออกวิ่งให้บริการ ทุกๆ 4 นาที รอบมหาวิทยาลัย

ด้านนิสิตที่มาใช้บริการ บอกกับผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุที่เลือกใช้บริการรถว่า สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ที่จะต้องเดินทางไปเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะมีหลายเส้นทางและมีตลอดทั้งวัน และที่สำคัญช่วยประหยัดน้ำมันรถจักรยานยนต์ เนื่องจากน้ำมันเบนซินในช่วงนี้มีราคาแพงมาก

อ่านต่อ : https://ch3plus.com/news/social/morning/296981
ที่มา: ch3plus.com

ม.นเรศวร กับบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 นางสาวนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสาน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเผยแพร่ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีคณะที่ปรึกษาโครงการ ประกอบด้วย รศ.ดร. ประพิธาริ์ ธนารักษ์ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายณัฐกิตติ์ กริตโยธิน นักวิจัย บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จํากัด

นำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของโครงการเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบและแลกเปลี่ยนมุมมองสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียนต่อไป นอกจากนี้ ดร. สุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และ นางสาวนารีรัตน์ ธนะเกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่ความรู้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง “Climate Change Cooperation: Building a Low Carbon and Resilient Pathway Across ASEAN Region” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินความร่วมมือกับภูมิภาคอาเซียน โอกาส และความท้าทาย

ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการพัฒนาการปล่อยคาร์บอนต่ำและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป โดยการประชุมเผยแพร่ดังกล่าวมีผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ 150 คน ณ ห้องบอลรูม ชั้น 7 โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ Zoom

SGtech ขอขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และทุกภาคส่วนที่กรุณาเข้าร่วมงานและร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ได้เข้าติดตามผลการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาหอพักนิสิต และอาคารบริการ (อาคารขวัญเมือง) มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 18 มีนาคม 2565 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ได้รับมอบหมายจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกองค์การมหาชน) ได้เข้าติดตามผลการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาหอพักนิสิต และอาคารบริการ (อาคารขวัญเมือง) มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชั่น แคร์คุณ…ทุกเส้นทาง

แอปพลิเคชันแคร์คุณ Carekoon Mobility Platform เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, เทศบาลนครพิษณุโลก และ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เกิดเป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงานและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลุ่มธุรกิจสินค้าบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Smart Mobility for Longevity Economy) ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพในยุควิถีชีวิตปกติใหม่จากโรคระบาดโควิด-19

ภญ.กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ประธานกรรมการบริษัทโซลาร์วัตต์ 111 จำกัด และหัวหน้าโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณกล่าวว่า “ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยเรามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 คาดการณ์ว่าสัดส่วนจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับสังคมญี่ปุ่นในวันนี้ อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ประสบปัญหาในการเดินทางเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน หรือยามเจ็บป่วยต้องพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันแคร์คุณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางคมนาคมในยุคดิจิตอล และที่สำคัญในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ก็ยังสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขผ่านปลายนิ้วบนแคร์คุณได้ อาทิ แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเทศบาลนครพิษณุโลก ที่ให้การสนับสนุนทุน บุคคลากรและพื้นที่ทดสอบ จนเกิดเป็นแอปพลิเคชันแคร์คุณสำเร็จค่ะ”

ผศ.ดร. อนันต์ชัย อยู่แก้ว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นที่ปรึกษาโครงการ  กล่าวว่า “นอกจากรถไฟฟ้าแล้ว แอปพลิเคชันแคร์คุณซึ่งเป็นของคนไทย ถือว่ามาเติมเต็มในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) รองรับการขยายตัวของความเป็นเมืองภายในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ เพิ่มความสะดวกและทางเลือกมากยิ่งขึ้น จุดเด่นของแคร์คุณคือสามารถออกแบบตอบโจทย์การเดินทางได้หลากหลาย มีทั้งประเภทรถโดยสารส่วนบุคคล (On-demand), ประเภทรถประจำเส้นทาง(Route) และประเภทบริการวิ่งรับส่งสินค้าอาหารจากร้านค้าไปยังบ้านลูกค้าปลายทาง, สามารถประยุกต์ใช้เป็นบริการอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ให้บริการได้ เช่น รถบัสอีวีรับส่งภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร, รถเร่ขายกับข้าว, รถสำหรับผู้พิการ, Car sharing, รถนำเที่ยว,รถแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่, สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศได้”

ผศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ หัวหน้าหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีภารกิจช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีทีมงานนักวิจัย ผู้เชียวชาญ มาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนเพื่อนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดทำธุรกิจได้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างคุณค่าเกิดประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณ ที่ได้บูรณาการแพลตฟอร์มเรื่องคมนาคมขนส่ง รวมเข้ากับการบริการสาธารณสุข สามารถตอบโจทย์ Pain Point ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการ รวมทั้งคนทั่วไปที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสัญจร ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รถรับจ้าง หรือร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เวชภัณฑ์ บนแคร์คุณให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ ยังมีส่วนสนับสนุนระบบการขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างสูงสุด โดยได้ร่วมกันพัฒนาและทดสอบการเชื่อมระบบการดูตำแหน่ง GPS ของรถไฟฟ้าประจำทาง

นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร “ต้องขอขอบคุณทางบริษัทฯ ที่ได้นำแอปพลิเคชันแคร์คุณมาสนับสนุนการให้บริการของรถไฟฟ้าประจำทาง ทำให้นิสิต รวมทั้งบุคคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถที่จะเห็นตำแหน่งรถได้บนจอมือถือ ซึ่งช่วยบริหารเวลาในการมารอใช้บริการที่จุดรับส่ง เวลาเข้าเรียนหรือกลับหอ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะนำข้อคิดเห็นต่างๆจากผู้ใช้งาน มาปรับปรุงพัฒนาการให้บริการร่วมกันกับแคร์คุณต่อไป”

นางสาวสิริกร ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร “โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีมาพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งเป็นภาคเอกชน ในส่วนของแอปพลิเคชันแคร์คุณ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและอาจารย์ที่ปรึกษา ในการถ่ายทอดผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมนั้นกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคคลากร นิสิต ได้ใช้ประโยชน์ เสมือนเป็นห้องแล็บในการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน”

นายคมสัน เสริมดวงประทีป ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ “ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น จำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกันกับแอปพลิเคชันแคร์คุณ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าโครงการนำร่องและเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ปกติก็จะมีลูกค้าประจำ แต่แอปพลิเคชันทำให้ได้เจอลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการบริการรับส่งอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เป็นการสร้างงานให้อยู่ภายในจังหวัด ไม่จำเป้นต้องไปทำงานที่อื่น”

นายจรินทร์ อินทยศ ผู้ขับขี่จากชมรมรถยนต์บริการสนามบินพิษณุโลก “เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยลงมาก ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณได้ถูกพัฒนามาเพื่อที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ในพื้นที่ ผ่านการบริการต่างๆบนแพลตฟอร์ม ทำให้เพิ่มจำนวนผู้โดยสารในพื้นที่เรียกใช้บริการมากขึ้น ชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดได้เป็นอย่างดี ขอเชิญชวนเพื่อนๆผู้ขับขี่ หรือผู้สนใจที่ต้องการมีรายได้เสริมมาสมัครขับบนแอปพลิเคชันแคร์คุณ”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ นอกจากมีบริการรถรับส่งหลากหลายประเภทแล้ว ยังมีการให้บริการปรึกษาสุขภาพออนไลน์จากทีมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด อาทิ หมอรู้จักคุณของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร,Health Dome บริการ Telemedicine, ร้านขายยาเคเจฟาร์มาซี, กนกคลินิกกายภาพบำบัด, คุยเรื่องสมุนไพรกับ อ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย, บ้านพักฟื้นผู้สูงอายุสายใยสัมพันธ์เนอสซิ่งโฮม และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สายสุขภาพ Health Academy รวมทั้งร้านอาหาร บ้านฉัน 4 ภาค

ขอเชิญชวนผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ผู้ขับขี่ สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มแคร์คุณได้สมัครฟรีค่าธรรมเนียม 3 เดือน ติดต่อได้ที่ website: www.carekoon.com, LINE: @carekoon หรือโทรศัพท์ติดต่อเบอร์โทรศัพท์ 092-269-6914 หรือ 081-834-7702

เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชันแคร์คุณ

แอปพลิเคชันแคร์คุณเป็นแอปพลิเคชันให้บริการยานพาหนะ (Ride-hailing service) ของคนไทยพัฒนาโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปพัฒนาออกแบบเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19, สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย แอปพลิเคชันแคร์คุณได้รับการสนับสนุนในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการนำร่อง (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563) จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ เอกชน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, เทศบาลนครพิษณุโลก, ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ที่มา: carekoon.com

ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของไทยในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน

ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของไทยในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 11 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างโปสเตอร์ หรือผ่านทาง https://bit.ly/3rIQODX

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทฯ บริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน

SGtech ขอขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกภาคส่วนที่กรุณามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทย ในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพมหานคร

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin