Archives June 2023

ม.นเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The Asian Political and International Studies Association (APISA) : APISA2023

ผู้บริหารและอาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงาน ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The Asian Political and International Studies Association (APISA) : APISA2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Annual Congress Towards New Modalities of Governance in Asia: E-democracy, Civil Society, and Human-Centred Policymaking” โดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2566 ณ Merdeka Tower Business Center (MTBC), Warmadewa College บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คณะนิติศาสตร์ จัดพิธีมอบทุน ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีจิตสาธารณะ

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 คณะนิติศาสตร์ จัดพิธีมอบทุนหนังสือจากบริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด ให้กับนิสิตคณะนิติศาสตร์ ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีจิตสาธารณะ และยังต้องการทุนทรัพย์ทางการศึกษาเพิ่มเติม โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรรยารักษ์ สุวพันธ์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ให้การต้อนรับคุณปพิชญา จันทะเสน ผู้แทนจากบริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด ณ ห้องรับรอง ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

4 มหาวิทยาลัยร่วมพลิกโฉม “สร้างเครือข่ายเพื่อการวิจัย”

วันที่ 27-28 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมประชุมวิชาการ: พลิกโฉมมหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มวิจัยเครือข่าย Reinventing University by Research Network Platform) โดยการร่วมมือระหว่าง 4 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความท้าทายของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัย เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย 3 กลุ่ม ได้แก่ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 1 มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 และ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 ขับเคลื่อนความแข็งแกร่งของงานวิจัยเชิงพื้นที่ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ผสานภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore)

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานกล่าวเปิดการประชุม เปิดเผยว่า จุฬาฯ ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยจุฬาฯ กับ 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีจุดสนใจเหมือนกันมารวมตัวกันเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศ โดยงานวิจัยจะเน้นไปในด้านการแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เชื่อมประสานแพลตฟอร์มวิจัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 มหาวิทยาลัยเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมร่วมกัน จนกระทั่งสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน นำร่องรูปแบบของแพลตฟอร์มวิจัยที่สามารถขยายได้ทั้งกลุ่มนักวิจัยร่วมในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคน และคนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้นำความรู้มาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล”

ศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เริ่มต้นด้วยการวิจัยเรื่อง University-Urban Design and Development หรือเมืองมหาวิทยาลัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปยังการวิจัยในประเด็นอื่น ๆ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยที่จะร่วมกันในการเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันการวิจัยด้วยการพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม เพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และภูมิภาคต่อไป”

ภาพ/ข่าว: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยพะเยา

ม.นเรศวร บริการน้ำดื่มฟรี

หอพักนิสิต มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ผ่านขั้นตอนการกรองน้ำอย่างมีคุณภาพ โดยมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำใหม่เพื่อสุขอนามัยของทุกคน ดื่มน้ำสะอาดพร้อมติดตั้งบนเครื่องทำน้ำร้อน น้ำเย็น เพื่อให้บริการแก่นิสิตในหอพักมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความสำคัญต่อการบริการนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ถูกสุขอนามัย บริการทั้งในส่วนอาคารเรียนต่างๆ และหอพักนิสิต รวมถึงบุคลากร ให้เข้าถึงบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัยถูกหลักสุขอนามัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่มา: หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร NU Dorm

ม.นเรศวร เข้าร่วมการสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน”

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ และคณะทำงานโครงการวิจัยฯ เข้าร่วมการสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน : บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ภายใต้แผนงานแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัดของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นประธานในพิธีฯในการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและนำไปสู่การขับเคลื่อนขยายผลและกลยุทธ์การขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัด SRA แบบบูรณาการ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม บี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

ที่มา: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์

เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 นางนิพัทธ์ เกษาพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาววรรณชลี กุลศรีไชย หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม เป็นวิทยากรในโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์/บริการ ภายใต้แผนงานยกระดับธุรกิจภูมิภาค (Regional Entrepreneur Upgrade) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจภูมิภาคทุกกลุ่มที่เป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Economy) และนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาค ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บ ตำบลสนามคลี จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

เปิดใช้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ และโครงการ GROW NU: ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 19.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานพิธีเปิดใช้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและโครงการ GROW NU: ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร ซึ่งในการปรับปรุงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีแนวความคิดในการออกแบบโดยเริ่มจากการศึกษาประวัติและคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้พัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับเกียรติประวัติขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

และโครงการ GROW NU:ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร โดยมีการปลูกต้นเสลา ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และถั่วบราซิล ซึ่งภาชนะในการปักชำ ขยายพันธุ์ถั่วบราซิลได้มาจากการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ทดแทนถุงเพาะชำต้นไม้และนำน้ำที่ได้จากการบำบัด มาใช้ในการรดน้ำดูแล ถั่วบราซิล และไม้ประดับอื่นๆในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย เพื่อสร้างความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัย

โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมพิธีเปิดกันอย่างพร้อมเพรียง ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดวิชชาลัยข้าวและชาวนา เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและแปรรูปข้าวอย่างยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกสภามหาวิทยาลัย ประธานในพิธีเปิดวิชชาลัยข้าวและชาวนา มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรให้การต้อนรับ

วิชชาลัยข้าวและชาวนา มหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทางด้านข้าว โดยมีจุดกำเนิดในรูปแบบกิจกรรม “วิชชาลัยชาวนา” ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดย ดร.ภาวัช วิจารัตน์ ดำเนินการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและโภชนเภสัชสารในข้าว การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวปลอดภัย และการจัดการการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้แก่ชาวนา การจัดทำแปลงสาธิตการผลิตข้าวสำหรับสอนนิสิตและเกษตรกร รวมทั้งการจัดกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทางด้านข้าว

อีกทั้ง วิชชาลัยข้าวและชาวนามหาวิทยาลัยนเรศวรสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจาก นายธวัช สิงห์เดช นายกองค์การบริหาส่วนตำบลท่าโพธิ์ ประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลันเรศวร อาทิ สำนักงานอธิการบดี กองบริการวิชาการ กองอาคารสถานที่ และกองกลาง ที่จับมือทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนการจัดตั้งวิชชาลัยข้าวและชาวนาแห่งนี้จนสำเร็จลุล่วงได้ดี

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวรให้ความรู้ร่วมกับการใช้ motivation interviewing technique เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผศ.พญ.ศรินยา สัทธานนท์ อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ พญ.แพรว สุวรรณศรีสุข อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมโครงการให้ความรู้ร่วมกับการใช้ motivation interviewing technique เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน  ณ ห้องประชุม CC2-801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 2

    การจัดโครงการในครั้งนี้  ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 50 คน กิจกรรม แบ่งเป็น 4 ฐานได้แก่ ฐานที่ 1 : เรื่องโรคเบาหวาน  ให้ความรู้ โดยทีมแพทย์ นำโดย ผศ.พญ.ศรินยา สัทธานนท์  อ.พญ.แพรว สุวรรณศรีสุข  และนิสิตแพทย์  ฐานที่ 2 : เรื่องการใช้เครื่องเจาะน้ำตาลชนิดพกพา โดยทีมพยาบาล  ฐานที่ 3 : เรื่องการใช้ยาฉีด Insulin  โดย ทีมเภสัชกร  ฐานที่ 4 : เรื่องโภชนาการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยทีมโภชนาการ การจัดโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเบาหวาน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตนเอง การใช้ยาให้เหมาะสม บริโภคอาหาร การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง การดูแลเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ น้ำตาลสูง การดูแลเท้า ให้เหมาะสมเมื่อเป็นโรคเบาหวานได้ ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ตามเกณฑ์ ผู้ป่วยเบาหวานไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติที่ต้องได้รับการรักษานอนโรงพยาบาล ภาวะแทรกซ้อนทางจอประสาทตาจากเบาหวาน ภาวะโรคไตวายจากเบาหวาน  การถูกตัดเท้าในผู้ป่วย เบาหวาน  เป็นต้น

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ให้ความรู้และประโยชน์ของต้นไม้ในชุมชนสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.มัทนี สงวนเสริมศรี และ นายเกดิษฐ กว้างตระกูล สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับตะขบ ที่โรงเรียนบ้านดงยาง อ. บางระกำ จ. พิษณุโลก โดยคณะครู และนักเรียนระดับชั้น ป. 1 ถึง ป. 6 เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการแบ่งทีม แข่งขันถาม-ตอบปัญหาการใช้ความคิดสร้างสรรค์และฝึกการทำงานเป็นทีม เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของตะขบซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีคุณประโยชน์และมีจำนวนมากในชุมชน แต่มักถูกมองข้าม นอกจากนี้นักเรียนยังได้ร่วมกันปลูกต้นตะขบ ต้นแค และมะละกอในบริเวณโรงเรียนเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตต่อไป

กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมนำร่องของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากลูกตะขบและพัฒนายุวนวัตกรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเชิงหน้าที่ (Functional Food) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศว

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin