ม.นเรศวร ร่วมเวทีหาความร่วมมือเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษข้ามแดน จ.น่าน จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ทุก ๆ ปี ประเทศไทยเผชิญมลพิษทางอากาศจากหลายปัจจัย อาทิ ฝุ่นการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ควันท่อไอเสียรถยนต์ ไฟป่า หรือการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐพยายามออกมาตราการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา แต่สำหรับมลพิษข้ามพรมแดน จากการเผาหรืออุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับระหว่างประเทศ ฉะนั้น เมื่อไหร่กระแสลมเปลี่ยนทิศก็จะพัดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเข้าไปซ้ำเติมมลพิษทางอากาศในประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้นกระทบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารสำคัญของประชาชนที่อาศัยใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษ ยิ่งโดยเฉพาะ ต.ขุนน่าน และต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติทางการเกษตรไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร เรื่องนี้ถูกพูดถึงกับในกลุ่มชาวบ้าน และต้องการหาคำตอบ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนการจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป. ลาว ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเดียวกันนี้ มีการทำงานเชิงข้อมูลกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ร่วมกันเปิดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลผลกระทบการศึกษา และหารือความร่วมมือกับภาคประชาชนสังคมน่าน ในการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษข้ามแดน ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นอกจากชาวบ้าน คุณครูในพื้นที่ต.ห้วยโก๋น และต.ขุนน่าน ภาคประชาสังคมในน่าน ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังและร่วมเสนอเเนวทางการเฝ้าระวัง

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงความคืบหน้าของผลการติดตามจากระบบเฝ้าระวัง จากการตรวจวัด

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“งานวิจัยที่เราทำที่น่านเริ่มจากประชาชนมีข้อสงสัยและมีความกังวลจากประสบการณ์ที่เขาสังเกตเห็นว่าตั้งแต่มีการตั้งโรงไฟฟ้าที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เขารู้สึกว่าตัวพืชผลทางการเกษตรของเขา เริ่มมีอาการผิดปกติ ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ เช่นอาการพืชมีลักษณะใบไหม้เพิ่มมากขึ้น ข้าวเม็ดรีบ พืชผลทางการเกษตรผลผลิตตกต่ำกว่าที่เคย ชาวบ้านจึงมีความสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับมลพิษที่มาข้ามพรมแดนหรือไม่”

ประชาชนในพื้นที่ยังอิงกับระบบนิเวศค่อนข้างเยอะ มีการจับปลาในพื้นที่มากิน เขาจึงก็มีความกังวลว่าถ้ามีแหล่งปลดปล่อยมลพิษอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมลพิษข้ามพรมแดนมานั้นจะเกิดการตกสะสมของสารพิษในปลาที่พวกเขาบริโภคหรือไม่ งานวิจัยเราจึงเริ่มจากตรงนี้เพื่อตอบความสงสัยของประชาชนด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแรกที่เราทำก็คือ ทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ว่าถ้ามีมลพิษปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามพรมแดนมากับลมมาตกสะสมในชายแดนของจังหวัดน่าน จะมีการตกลงพื้นที่ตรงไหนอย่างไรบ้าง จึงเกิดตัวแผนที่ความเสี่ยงออกมาว่ามลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะไปตกอยู่บริเวณไหน จากนั้นเราก็ทำการเข้าไปเก็บตัวอย่างเพื่อทำการตรวจวัดตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมลพิษที่ตกสะสม อย่างเช่น 

ก๊าซกรด ที่ปลดปล่อยออกมาจากตัวโรงไฟฟ้า ก็จะดูว่ามีการตกสะสมของกรดในพื้นที่เกษตรกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ประชาชนพบว่าพืชผลเสียหายผิดปกติ เราจึงทำการเก็บตัวอย่างวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ 

การเก็บตัวปลา เพื่อดูว่ามีปรอทซึ่งเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าได้ ตกสะสมในระดับที่นัยยะสำคัญหรือไม่ เราก็ตามไปถึงว่าแล้วประชาชนที่บริโภคปลา มีการสะสมของปรอทในเส้นผมหรือไม่ ดูตัวชี้วัดทางชีวภาพตั้งแต่การตกสะสมในระบบนิเวศ ร่วมไปถึงการตกสะสมในอาหารของมนุษย์ และที่สะสมในตัวของมนุษย์

พบว่าเมื่อทำการเก็บตัวอย่างตามที่แผนที่ความเสี่ยงชี้มา พบว่าหลายบริเวณที่แบบจำลองคอมพิวเตอร์คาดการณ์ว่าจะมีการตกกระทบของกรดในระดับที่สามารถเกิดผลกระทบได้ พบว่ามีดินที่มีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับแบบจำลองแผนที่ความเสี่ยง

การเก็บตัวอย่างปลา ตามจุดที่แบบจำลองเราคาดการณ์ว่าน่าจะมีปรอทตกสะสม ก็พบว่าในเนื้อปลามีปรอทสะสมอยู่ และในเส้นผมของคนที่อาศัยในบริเวณที่มีปรอทสะสมเนื้อปลา ก็พบว่ามีปรอทสะสมในเส้นผมของคนในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องทางสถิติทั้งผลกระทบจากก๊าซกรดที่ตกสะสมลงในพื้นที่ ก๊าซกรดกับประสบการณ์ของคนของเกษตรกรในพื้นที่ ที่บอกว่าพืชผลทางการเกษตรเสียหายมีความสอดคล้องกัน แล้วก็ปรอทที่สะสมในปลา ปรอทที่พบในเส้นผมของคน ก็สอดคล้องกับแผนที่ความเสี่ยงที่มีการตกสะสม เราเลยสรุปว่าน่าจะมีมลพิษ ที่ถูกปลดปล่อยจสกประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนเข้ามานั้น เริ่มตกลงมาสะสมลงในพื้นที่ของจังหวัดน่านแล้ว แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย แต่ค่ามลพิษที่เพิ่มขึ้นจากค่าตามธรรมชาติประมาณ 5 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งมลพิษเหล่านี้เป็นมลพิษที่สะสม เพราะฉะนั้นถ้ามีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้ลดการปล่อยตัวมลพิษ ก็อาจจะมีการสะสมถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของคนในชุมชนได้

วิจัยเราต้องการชี้เห็นมีว่าปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ ต้องมีการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ ต้องควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ถึงในระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ซึ่งตอนนี้ยังสามารถแก้ปัญหาได้เพราะพึ่งเริ่มเกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับปัญหาร่วมกันและมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ มีการชี้ให้เห็นว่าต้องลดการปลดปล่อยอย่างไร ต้องฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร ปัญหาเหล่านี่ ที่มีมูลค่าเป็นพันล้านบาท ตาทที่เราประเมินใน 30 ปีสามารถป้องกันได้ 

ผลกระทบทางการเกษตรเป็นการประเมินที่เรียกว่า Worst case scenario ประเมินแบบกรณีเลวร้ายที่สุด ที่อิงถึงความเสียหายที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จากการสอบถามชาวบ้านว่าผลผลิตเขาลดลงตกต่ำอย่างไร เราก็จะเอาความเสียหายตรงนั้นมาคูณ แล้วก็คำนวณขยายไปในพื้นที่ทั้งหมดที่กรดสามารถตกสะสมได้  แล้วพบว่าความเสียหายประมาณ 800 กว่าล้านบาทได้ใน 30 ปี ถ้าไม่ดำเนินการ ความเสียหายระดับนี่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชนได้โดยที่ประชาชนเองก็จะมีความสงสัยอยู่ตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมผลผลิตเสียหาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมลพิษข้ามพรมแดน แม้ว่าความเสียหายจะ 800 ล้านบาท แต่มันคือความเสียหายที่เราคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีซึ่งสามารถป้องกันได้ ถ้าเรายอมรับปัญหาและลดการปล่อยตัวมลพิษที่แหล่งกำเนิด เราจะสามารถทำให้ความเสียหายนั้นไม่เกิดหรือว่าลดน้อยลงที่สุดที่เป็นไปได้

ในระยะที่ 2 เราจะทำการพัฒนาเครื่องมือที่ให้ชุมชนสามารถเก็บตัวอย่างได้และชุมชนที่เก็บตัวอย่างที่เห็นความผิดปกติในพื้นที่ ทำงานกับนักวิจัยแล้วประเมินผลว่าเกี่ยวข้องกับมลพิษใหม่หรือไม่ ส่งตัวอย่างมาตรวจในวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้นในห้องปฏิบัติการ ที่ผ่านมาเราพัฒนาร่วมกับชุมชนเป็นหลักแต่ว่าการจะป้องกันปัญหาการที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิด และลดผลกระทบพันล้านให้ได้ ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วในการป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิด กับภาคเอกชนที่เป็นผู้ปลดปล่อยมลพิษ เพราะเป็นคนที่สามารถบอกได้ว่าเราสามารถลดการปล่อยจากปลายป่องได้ เพื่อให้ผลกระทบเหล่านี้ไม่เกิด เพราะฉะนั้นในโครงการในระยะต่อไป คือ 

1. เราจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นโดยการขยายจำนวนคนที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลเก็บตัวอย่างรายงานผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองสังเกตเห็นในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น ก็คือสร้างเดต้าให้เป็นบิ๊กเดต้ามากขึ้น 

2. จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชนอยู่แล้วมาอิงข้อมูลตรงนี้ เพราะว่าประชาชนได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น รายงานผ่านตัวแอพพลิเคชั่น c-site บันทึกไว้ในฐานข้อมูลแล้ว จะทำอย่างไรให้งานภาครัฐเชื่อมกับฐานข้อมูลนี้ เหมือนที่ภาควิชาการเชื่อมภาคประชาชน ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาทำงานร่วมกันเป็น 3 ภาคส่วน 

3. หน่วยงานรัฐต้องช่วยในการวางกลไกในการทำให้ลดการปล่อยมลพิษข้ามพรมแดนซึ่งต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาต้องทำให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษนะครับยอมรับในกระบวนการเห็นด้วยกับกระบวนการและเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ คือไม่ได้มาเพื่อปิดโรงไฟฟ้า ไม่ได้มาเพื่อทำให้เขาเสียหายนะ แต่มาเพื่อช่วยเขาในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะที่ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าระวังจากตรวจวัด เล่าว่า เราเก็บตัวอย่างทางด้านอากาศ น้ำฝน และน้ำผิวดิน ส่วนทางด้านชีวภาพเราจะเก็บไลเคนและเปลือกไม้ที่นำจะไปตรวจสารเคมี ข้อค้นพบของเราอันดับแรก คือทางด้านเคมีของอาทางด้านอากาศและด้านชีวภาพที่ชี้ไปในทางเดียวกัน คือน่าจะมีแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแหล่งไหน เราระบุได้จากสารเคมีบางตัว อย่างเช่น ตัวโลหะหนัก แมงกานีส งานวิจัยระบุว่ามาจากแหล่งกำเนิด คือ 1. ฝุ่นถนน 2. โรงไฟฟ้าถ่านหิน 3. การจราจร 3 แหล่งนี้เป็นแหล่งของมลพิษทางอากาศ แต่เรายังไม่สามารถระบุสัดส่วนว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ แต่เรารู้ว่ามาจาก 3 แหล่งนี้

เราทำการเก็บตัวอย่างโดยใช้สารเคมีในการตรวจวัดอย่างเช่น

  • อากาศเราวัดฝุ่น PM 2.5 ในลักษณะเรียลไทม์โดยเราใช้โลว์คอสเซ็นเซอร์ติดตั้งในหมู่บ้านต่าง ๆ ติดตามตรวจสอบ 9 พื้นที่ เก็บตัวอย่างของ PM 2.5 แบบเรียลไทม์ และเก็บฝุ่นตัวอย่างที่เป็นฝุ่นจริง ๆ โดยใส่ตัวฟิลเตอร์แล้วนำไปวิเคราะห์ว่าในฝุ่นนั้น มีไอออนขนาดไหน มีโลหะหนักกี่ชนิด และมีปริมาณมากน้อยเท่าไร ซึ่งจะสามารบ่งบอกถึงที่มาของฝุ่นได้ว่า เพราะฝุ่นมาจากอะไร เกิดจากที่ไหนจะสามารถระบุเหมือนเป็นรอยนิ้วมือ 
  • ก๊าซ เราใช้ Test kit ที่เราออกแบบและปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาจากอันเดิม ซึ่งเพิ่งสามารถใช้งานได้ง่ายนักเรียนและครู สามารถใช้งานได้ ตัวเทสคิดเราตรวจสอบติดตามตรวจสอบ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการเผาไหม้ ทั้งจากการจราจรทั้งจากโรงไฟฟ้าและแหล่งอื่น ๆ ซึ่งตัวนี้ก็จะเป็นการติดตามตรวจสอบอย่างง่ายที่สามารถใช้งานได้
  • ฝน ตัวอย่างน้ำฝนเราให้เจ้าหน้าที่เก็บและโรงเรียนเป็นคนเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไอออน ที่ละลายในน้ำตรวจสอบค่าพีเอช ค่าอีซี เพื่อดูว่าเป็นฝนกรดหรือไม่ มีมลพิษปลอมปนมาหรือเปล่า อย่างเช่นไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีปนมาหรือไม่
  • น้ำผิวดิน เก็บตัวอย่างจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีในหมู่บ้าน เก็บแหล่งน้ำที่มันที่ชาวบ้านใช้งานในชีวิตประจำวันนำไปตรวจสอบค่าอีซี ค่าพีเอช โลหะหนัก เพื่อนำมาวิเคราะห์
  • ส่วนชีวภาพนั้นเราทำการตรวจสอบไรเคน ตัวไรเคนจะมีหลายชนิดมาก ทั้งทนต่อมลพิษทางอากาศและไม่ทนต่อมลพิษทางอากาศซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศ และเก็บตัวอย่างอื่น ๆ เช่นเก็บเปลือกไม้ มาตรวจดูว่ามีการสะสมของโลหะหนักหรือไม่ อันนี้ก็เป็นกระบวนการทางเคมีที่ตรวจสอบมลพิษที่อยู่ในอากาศ และเคมีที่ตรวจสอบทางชีวภาพ

ระยะที่ 2 อันเดิมเราก็ยังทำอยู่เพื่อเป็นข้อมูล Baseline อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเราจะเก็บให้มันสมบูรณ์มากขึ้น แต่ว่าอันที่เราเก็บเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 คือ 1.เราจะเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์สารอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือสารก่อมะเร็ง สารก่อมะเร็งชนิดนี้จะอยู่ในฝุ่น 2. เราจะเก็บตัวอย่างจากมนุษย์ คือเก็บตัวอย่างจากปัสสวะ ว่ามีการตกค้างในมนุษย์หรือไม่ โดยสารกลุ่มที่จะบ่งบอกว่ามีการสะสมของสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น มาจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง pm2.5 หรือไม่ จะเป้นส่วนที่ทำเพิ่มขึ้น

อีกอย่างคือ ตัวติดตามตรวจสอบ pm 2.5 หรือว่าเครื่องโลว์คอสเซ็นเซอร์ เราจะมีการบูรณาการเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะนำไปติดตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือประเทศลาว และเราจะมีการทำงานร่วมกับสำนักงานควบคุมโรคและกรมอนามัย ที่มาร่วมทำในของเรื่องสุขภาพ หาแนวทางและการป้องกันในการระวังเฝ้าระวัง สภาวะสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐอย่างสาธารณสุขมาช่วยเพื่อขยายองค์ความรู้แล้วก็ขยายการเฝ้าระวังให้มากขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้ตื่นตัวมากขึ้น

โดยเวทีในครั้งนี้มีคุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านถึงผลกระทบของมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา และผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป  

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จากผลวิจัยทำให้ได้รับรู้ว่ามันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตแล้วก็ต่อสุขภาพ ทั้งในเรื่องปลาที่อยู่ในต้นน้ำของบ้านน้ำรีที่มีค่าปรอทสูง ส่งผลกระทบต่อพืชและต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ที่มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ หรือเป็นมะเร็ง แม้ยังไม่พบผู้ป่วยสูงมากก็ตาม จากข้อมูลของนักวิจัยที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดและมีทิศทางลมพัดที่มาจากตัวโรงไฟฟ้าเข้ามาที่บ้านน้ำรีและบ้านน้ำช้าง ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมันก็มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงของเดือนปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและสารปรอท ซึ่งอันนี้เป็นภาพรวมของผลกระทบที่มีการตั้งโรงไฟฟ้า และเมื่อได้ฟังจากคนในพื้นที่คิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น 

“เขาไม่ได้รับและไม่ได้ใช้ไฟ ตามที่โรงไฟฟ้าเคยบอกเขาไว้ ทำให้ชาวบ้านก็ไม่ได้ประโยชน์จากการมีโรงไฟฟ้าเลย เพราะว่าโรงไฟฟ้าเป็นการขายไฟให้แก่ประเทศไทย ซึ่งต้องเข้าสู่ระบบกริดในสายส่งที่จะส่งไปให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ใช้”

นอกจากนี้ก็จะมีผู้ที่จะมาร้องเรียนกสม.เข้าตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าในหงสา กสม.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของกสม. ซึ่งกระบวนการของกสม.ในการตรวจสอบ คือ เข้ารับฟังข้อมูลจากผู้ร้องและฟังข้อมูลจากตัวของบริษัทบริษัทหงสาด้วย ซึ่งหุ้นใหญ่ก็เป็นหุ้นที่มาจากบ้านปูนและลาดบุรีของกฟผ.เอง ซึ่งกสม.เราก็จะตรวจสอบซึ่งหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นคนไทยเราสามารถตรวจสอบ 

การตรวจสอบผู้ประกอบการภาคเอกชนกสม.จะมีหลักในการตรวจสอบคือหลักของสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามธุรเกี่ยวกิจกับสิทธิมนุษยชน เราจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบ นอกเหนือจากการตรวจสอบด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ตัวสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การมีโครงการพัฒนาและส่งผลกระทบต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีแล้วก็ได้รับการเยียวยาหากได้รับผลกระทบจากตัวโครงการ

ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบไปถึงขั้นที่เรียกว่าเขามีการลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าอย่างไรการประกอบกิจการเขาเป็นอย่างไร และผลกระทบที่มาจากการประกอบกิจการนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และชาวบ้านในพื้นที่มีข้อเสนออย่างไร ที่จะให้กสม.ช่วยคุ้มครองสิทธิหรือเยียวยาสิทธิผลกระทบจากนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเราจะใช้กระบวนการหารือจากทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการที่มีข้อมูลงานวิจัยที่มารองรับ เราต้องหาทางออกร่วมกันเพราะว่ากรณีการตรวจสอบของกสม.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนกับโครงการพัฒนา การแก้ปัญหามันมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อความผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น

โดยระบบเทคโนโลยีและงานวิชาการพัฒนาไปมากนั้น จึงสนับสนุนนักวิจัย สวรส. เสนอให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ซึ่ง กสม.จะใช้หลักนี้ในการตรวจสอบกิจการโครงการว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นหลักในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ซึ่งจะยั่งยืนเมื่อเทียบกับให้ภาครัฐเป้นผู้ตรวจสอบมลพิษเพียงอย่างเดียว แล้วรู้ข้อมูลกันภายในระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้คนในพื้นที่ร่วมรับรู้ข้อมูลด้วย

โรงไฟฟ้าหงสา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2553 ก่อนจะเปิดดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี มีพื้นที่รวม 76.4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งเชื้อเพลิงมาจากถ่านหินลิกไนต์ที่ผลิตจากเหมืองแร่ในพื้นที่โครงการ ปริมาณสำรองลิกไนต์อยู่ที่ 577.4 ล้านตัน โรงไฟฟ้าต้องการปีละ 14.3 ล้านตัน รวมอายุสัมปทานทั้งหมด 370.8 ล้านตัน ว่ากันว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 900 เมกะวัตต์ โดยเป็นการแบ่งขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ และขายให้ลาว 100 เมกะวัตต์ ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (จากโรงไฟฟ้าถึงหลวงพระบาง)

ที่มา: thecitizen.plus