จักรยาน ยืมปั่นฟรีลดโลกร้อน

จักรยาน ยืมปั่นฟรี บริการดีๆ ให้นิสิตหอพักได้ออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานลดการปล่อยคาร์บอน หันมาใช้พาหนะประหยัดพลังงานแถมยังช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย โดยยืมได้ที่ป้อมยาม B2 ใกล้หอ 9

ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University)

วันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ คณะทำงานโครงการฯ พร้อมด้วย นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าของวิทยาลัยฯ เข้าร่วมกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อช่วย “ลด” และ “ชดเชย” (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลางของเครือข่าย C-อพ.สธ. สำหรับสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) โดยนิสิตและเครือข่ายฯ ได้เรียนรู้ที่มาและความสำคัญของแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กิจกรรมชดเชยคาร์บอน แนวทางการประเมินการลด ดูดซับและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และภาคการเกษตร การฝึกปฏิบัติการในการวัดต้นไม้แต่ละประเภท การเก็บข้อมูลต้นไม้ในแปลงตัวอย่าง การคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ข้อมูลอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีอวกาศสำหรับการหามวลชีวภาพ โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง SGtech คณะเกษตรศาสตร์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง กองส่งเสริมการบริการวิชาการ กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา กองอาคารสถานที่ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

การประชุมวิชาการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ “ความยืดหยุ่นรับภัยพิบัติเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

การประชุมวิชาการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ:The 2nd TNDR Conference (National & International) “ความยืดหยุ่นรับภัยพิบัติเพื่อสังคมที่ดีขึ้น (Be Better: Disaster Resilience for Better Society)” จัดโดย มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยในเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการ การจัดประชุมนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจากดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) เป็นประธานในการเปิดการประชุม

หลังจากนั้นมีการเสวนาที่น่าสนใจ
1 ประเด็น “ระบบนิเวศของการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ “
1. ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย
2. รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง คณบดีวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. คุณเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (กปว.)
4. ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการแพล็ตฟอร์มสร้างธุรกิจนวัตกรรม ศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ บจม.พีทีที โกลบอล เคมิคัล ผู้ดำเนินรายการ: ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

2. เสวนาเครือข่าย TNDR ประเด็น “โลกเดือด-สุดขั้วภัยพิบัติ จัดการน้ำอย่างไรให้รอด!!!”
1. คุณวรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน)
2. คุณสุขธวัช พัทธวรากร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและพันธกิจสังคม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
3. คุณวีฤทธิ กวยะปาณิก หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
4. รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ นักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ดำเนินรายการ: นายสมคิด สะเภาคำ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ และนานาชาติ พร้อมทั้งนิทรรศการโปสเตอร์และบูธเครือข่าย TNDR

ม.นเรศวร ผนึกกำลังนิคมสร้างตนเองบางระกำฯ จัดประชุมสร้างความเข้าใจในการดำเนินโครงการฯ พร้อมลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมมือกับ นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาทุนมนุษย์และส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมต่อการสร้างโอกาสในการทำงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนในระยะยาว

การประชุมที่จัดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ออกหน่วยบริการวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร” ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้จากคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน โดยโครงการนี้เน้นการสร้างมูลค่าในด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับบุคคลและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบนิคมสร้างตนเองบางระกำ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการเกษตร

1. การพัฒนาทุนมนุษย์และเศรษฐกิจชุมชน (SDG 1, SDG 8) การพัฒนาทุนมนุษย์และเศรษฐกิจชุมชนเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายสำคัญของการดำเนินโครงการร่วมกับนิคมสร้างตนเองบางระกำ ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชน เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงไก่, กลุ่มผู้ปลูกอ้อย, กลุ่มผู้เลี้ยงปลา, และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร โดยการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเกษตรยั่งยืนและการเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชน ลดความยากจนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสนับสนุน SDG 1: การขจัดความยากจน โดยการให้โอกาสทางการศึกษาที่เสริมสร้างอาชีพและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวและช่วยให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น

2. การส่งเสริมการเกษตรและการผลิตที่ยั่งยืน (SDG 2, SDG 12) : SDG 2: การขจัดความหิวโหยและความมั่นคงทางอาหาร เป็นเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากโครงการนี้ โดยการส่งเสริมการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหารในชุมชน การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ยั่งยืนและการใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ลดการใช้สารเคมี จะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูง

โครงการนี้ยังส่งเสริม SDG 12: การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยการสอนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถผลิตสินค้าในแบบที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การใช้วิธีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ การจัดการน้ำอย่างประหยัด และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ จะช่วยให้การผลิตมีความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. การพัฒนาแรงงานและการสร้างอาชีพ (SDG 8) โครงการนี้ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรในชุมชน โดยการเสริมทักษะทางการเกษตรและการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน โครงการนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในระดับบุคคล แต่ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม

การเสริมสร้างความรู้ด้านการทำธุรกิจและการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นไปในทิศทางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 8: การทำงานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

4. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (SDG 13, SDG 15) โครงการนี้ยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุน SDG 13: การดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG 15: ชีวิตบนบก การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกษตรยั่งยืนและวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานทดแทน การจัดการขยะในฟาร์ม และการเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

5. การสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17) โครงการนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร, หน่วยงานภาครัฐ, และ ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสนับสนุน SDG 17: การสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการร่วมมือกันนี้ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง การสร้างพันธมิตรระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 20 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานของประเทศ

บันทึกความร่วมมือดังกล่าวฯ ให้ความสำคัญด้านการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่ต้องการการแก้ไขอย่างถูกต้องและรวดเร็วเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยภายใต้ MoU ฉบับนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องรวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของโครงการตลอดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี โดยในพิธีลงนามฯ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ และรองศาสตราจารย์วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“PM drop” น้ำยาจับฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในอากาศ

     วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดให้มีการแถลงข่าว ผลิตภัณฑ์ “PM drop” ซึ่งเป็นน้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการจับฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในอากาศให้ตกลงมา ซึ่งมีทั้งแบบสูตรเข้มข้นเพื่อผสม และสูตรพร้อมใช้ โดยในองค์ประกอบของน้ำยาเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM (Particulate Matter) เป็นปัญหาสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงในประเทศไทย เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในระยะยาว ปัจจุบันมีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ปี 2566 พบว่าเกินมาตรฐานทุกปีในหลายพื้นที่ มีสาเหตุมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การจราจรและการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่และเขตอุตสาหกรรมที่มีการจราจร หรือการขนส่งหนาแน่นจนประเทศได้ประกาศว่าประเทศไทยมีฤดูฝุ่นเป็นฤดูกาลที่ 4 ซึ่งจากปัญหานี้ทีมวิจัยที่มี ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ได้ร่วมกันคิดค้นน้ำยา PM drop” ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นสารมาจากธรรมชาติ โดยทดสอบกับชุดอุปกรณ์สำหรับการวัดประสิทธิผลของการลดฝุ่น PM ที่ได้รับการรับรองมาตราฐาน ประกอบด้วย เครื่องก่อฝุ่น สำหรับใช้ที่สร้างฝุ่น เครืองวัดฝุ่นสำหรับใช้ในการวัดประสิทธิผลของน้ำยา แล้วทำการทดสอบภายในอาคาร นอกอาคาร และพื้นที่โล่งกว้าง พบว่าน้ำยา PM drop สามารถลดฝุ่น PM ให้อยู่ได้ในระดับที่ปลอดภัย โดยใช้ร่วมกับอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับขนาดและลักษณะของพื้นที่ สำหรับการฉีดพ่นเป็นละอองฝอย ได้แก่ Foggy เครื่องพ่นULC ชุดพ่นหมอก โดรนสำหรับพ่นละลอง โดย Foggy และเครื่องพ่นULCเหมาะสำหรับใช้ลดฝุ่นภายในอาคาร ชุดพ่นหมอกเหมาะสำหรับใช้เป็นม่านกันฝุ่นในอาคาร และโดรน ใช้ในการพ่นละอองสำหรับการสันทนาการหรือกิจกรรมภายนอกซึ่งสามารถใช้ร่วมกับหัวพ่นหมอกได้

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์“PM drop” น้ำยาลดฝุ่น PM ในอากาศ ได้ยื่นขอรับรองสิทธิบัตรพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ โทรศัพท์ 08 1671 3839 หรือกองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โทรศัพท์ 0 5596 8727

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมเปิดโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน เสริมสร้างพลังงานสะอาดและการเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate: TGC EMC) ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ท่าน จากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของรัฐบาลไทย

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมมือกับโครงการนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค โดยมีการสนับสนุนจากกองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) เพื่อให้ทุนแก่โครงการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

การมีส่วนร่วมในโครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนในด้านพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาดและการสร้างความร่วมมือที่มีผลกระทบในเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

ม.นเรศวร ส่งเสริมใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGtech) ได้จัดงาน ”ประชุมหน่วยงานส่วนราชการที่มีศักยภาพในการส่งเสริมใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์” ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ส่วนราชการ โดยมี รศ.ดร.ธวัช สุริวงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกิจการนิสิต และ ดร.วิสุทธิ์ แช่มสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ ทีมที่ปรึกษาโครงการ เป็นวิทยากร และดำเนินกิจกรรม ณ โรงแรมโมเดนา บาย เฟรเซอร์ บุรีรัมย์

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรมอุตุฯ จับมือ ม. นเรศวร ลงนาม MOU สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ดร. ชมภารี  ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ ระหว่าง กรมอุตุนิยมวิทยา กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี นายบัญชา  แก้วงาม ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์  โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย  ชูสำโรง รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศและกิจการนิสิต คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดร. ชมภารี กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการข้อมูล รวมไปถึงพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานด้านอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรม เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผลผลิต หากเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยา การพยากรณ์สภาพอากาศ และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เพิ่มผลผลิต และลดความเสียหายได้ 

ซึ่งการลงนาม ฯ ในวันนี้จะนำมาสู่การส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานด้านอุตุนิยมวิทยาและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการเกษตร รวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วยการจัดการข้อมูลแบบดิจิทัล และเพื่อให้บริการวิชาการขยายฐานความรู้และงานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาสู่ชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศฯ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการชุมชนในประเด็นภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ

โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควัน เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขามาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์

บทบาทสำคัญของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย ได้กล่าวปฐมบทในหัวข้อ “บทบาทการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย” โดยเน้นความสำคัญของการใช้ข้อมูลทางภูมิสารสนเทศ (GIS) ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมและฝุ่นควัน

ในส่วนของวิทยากร นำโดยนายวรฤทธิ์ ประเสริฐ และนางสาวกมลฉัตร ศรีจะตะ จากสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง (GISTNU) ได้นำเสนอเทคนิคการใช้ซอฟต์แวร์และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่

ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ERASMUS+ ของสหภาพยุโรปผ่านโครงการ SECRA และ FOUNTAIN

การตอบโจทย์ SDG 13
กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป้าหมายที่ 13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการเตรียมความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนและมีความต้านทานต่อภัยพิบัติ

การดำเนินงานนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin