หอพักนิสิต ม.นเรศวร จัดโครงการซ้อมหนีไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้นิสิตผู้พักอาศัย

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร กองกิจการนิสิต นำโดย หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต (นางพรธิดา บุญยะโรจน์) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้จัดโครงการอบรมฝึกซ้อมหนีไฟ ประจำปีการศึกษา  2565 ขึ้น ณ ห้องล็อบบี้ อาคารขวัญเมือง ชั้น 2 และหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร อาคาร 1 – 15 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากอัคคีภัยโดยไม่ได้คาดคิด ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวนิสิตและส่วนรวมได้ โดยโครงการฯ ดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย โตสุข ตำแหน่ง นักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติการ และทีมงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และฝึกซ้อมภาคปฏิบัติการหนีไฟ รวมถึงการปฏิบัติตนให้พ้นภัยจากเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในอาคารดังกล่าวอีกด้วย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดพื้นที่ CO-WORKING SPACE, CREATIVE SPACE

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธาน พร้อมด้วยดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม และทีมบริหารเข้าร่วมในพิธีเปิดพื้นที่ CO-WORKING SPACE, CREATIVE SPACE วัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตได้เข้าใช้พื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงห้องประชุมกลุ่มย่อย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ การอยู่ร่วมกันในสังคมและสร้างความคิดนวัตกรรมนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (USR) ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวิทยาลัยนเรศววร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ให้ความรู้ร่วมสร้างจิตสำนึกและมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างแท้จริงตามกฎหมายจราจรทางบก

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ ร่วมการสัมมนา เรื่อง จิตสำนึกและมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างแท้จริงตามกฎหมายจราจรทางบก โดยเข้าร่วมเวทีอภิปราย ภายใต้หัวข้อ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยกับการสร้างมาตรการสำหรับความปลอดภัยบนถนน” โดยมี นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ร่วมอภิปราย และนายอรรณพ ศักดิ์ศิริญดากุล ผู้พิพากษา และเลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค 6 เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมวังจันทน์ คอนเวนชั่น โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก และระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไฟฟ้าไม่มีวันหลับ

วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าย่อย มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยั่งยืน ยืดอายุการใช้งาน ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดโดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และมีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้า ในเวลา 16.00 น. ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่องระดับมัธยมศึกษา “ดาวรุ่งลุกทุ่งนเรศวร ครั้งที่ 12”

การประกวดวงดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่องระดับมัธยมศึกษา “ดาวรุ่งลุกทุ่งนเรศวร ครั้งที่ 12” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฏาคม 2565 ณ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นับเป็นกิจกรรมการร่วมสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนทั่วประเทศ ที่มีความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติให้คงอยู่สืบไป

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชั่น แคร์คุณ…ทุกเส้นทาง

แอปพลิเคชันแคร์คุณ Carekoon Mobility Platform เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, เทศบาลนครพิษณุโลก และ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เกิดเป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงานและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลุ่มธุรกิจสินค้าบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Smart Mobility for Longevity Economy) ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพในยุควิถีชีวิตปกติใหม่จากโรคระบาดโควิด-19

ภญ.กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ประธานกรรมการบริษัทโซลาร์วัตต์ 111 จำกัด และหัวหน้าโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณกล่าวว่า “ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยเรามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 คาดการณ์ว่าสัดส่วนจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับสังคมญี่ปุ่นในวันนี้ อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ประสบปัญหาในการเดินทางเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน หรือยามเจ็บป่วยต้องพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันแคร์คุณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางคมนาคมในยุคดิจิตอล และที่สำคัญในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ก็ยังสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขผ่านปลายนิ้วบนแคร์คุณได้ อาทิ แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเทศบาลนครพิษณุโลก ที่ให้การสนับสนุนทุน บุคคลากรและพื้นที่ทดสอบ จนเกิดเป็นแอปพลิเคชันแคร์คุณสำเร็จค่ะ”

ผศ.ดร. อนันต์ชัย อยู่แก้ว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นที่ปรึกษาโครงการ  กล่าวว่า “นอกจากรถไฟฟ้าแล้ว แอปพลิเคชันแคร์คุณซึ่งเป็นของคนไทย ถือว่ามาเติมเต็มในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) รองรับการขยายตัวของความเป็นเมืองภายในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ เพิ่มความสะดวกและทางเลือกมากยิ่งขึ้น จุดเด่นของแคร์คุณคือสามารถออกแบบตอบโจทย์การเดินทางได้หลากหลาย มีทั้งประเภทรถโดยสารส่วนบุคคล (On-demand), ประเภทรถประจำเส้นทาง(Route) และประเภทบริการวิ่งรับส่งสินค้าอาหารจากร้านค้าไปยังบ้านลูกค้าปลายทาง, สามารถประยุกต์ใช้เป็นบริการอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ให้บริการได้ เช่น รถบัสอีวีรับส่งภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร, รถเร่ขายกับข้าว, รถสำหรับผู้พิการ, Car sharing, รถนำเที่ยว,รถแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่, สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศได้”

ผศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ หัวหน้าหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีภารกิจช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีทีมงานนักวิจัย ผู้เชียวชาญ มาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนเพื่อนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดทำธุรกิจได้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างคุณค่าเกิดประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณ ที่ได้บูรณาการแพลตฟอร์มเรื่องคมนาคมขนส่ง รวมเข้ากับการบริการสาธารณสุข สามารถตอบโจทย์ Pain Point ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการ รวมทั้งคนทั่วไปที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสัญจร ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รถรับจ้าง หรือร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เวชภัณฑ์ บนแคร์คุณให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ ยังมีส่วนสนับสนุนระบบการขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างสูงสุด โดยได้ร่วมกันพัฒนาและทดสอบการเชื่อมระบบการดูตำแหน่ง GPS ของรถไฟฟ้าประจำทาง

นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร “ต้องขอขอบคุณทางบริษัทฯ ที่ได้นำแอปพลิเคชันแคร์คุณมาสนับสนุนการให้บริการของรถไฟฟ้าประจำทาง ทำให้นิสิต รวมทั้งบุคคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถที่จะเห็นตำแหน่งรถได้บนจอมือถือ ซึ่งช่วยบริหารเวลาในการมารอใช้บริการที่จุดรับส่ง เวลาเข้าเรียนหรือกลับหอ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะนำข้อคิดเห็นต่างๆจากผู้ใช้งาน มาปรับปรุงพัฒนาการให้บริการร่วมกันกับแคร์คุณต่อไป”

นางสาวสิริกร ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร “โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีมาพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งเป็นภาคเอกชน ในส่วนของแอปพลิเคชันแคร์คุณ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและอาจารย์ที่ปรึกษา ในการถ่ายทอดผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมนั้นกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคคลากร นิสิต ได้ใช้ประโยชน์ เสมือนเป็นห้องแล็บในการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน”

นายคมสัน เสริมดวงประทีป ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ “ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น จำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกันกับแอปพลิเคชันแคร์คุณ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าโครงการนำร่องและเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ปกติก็จะมีลูกค้าประจำ แต่แอปพลิเคชันทำให้ได้เจอลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการบริการรับส่งอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เป็นการสร้างงานให้อยู่ภายในจังหวัด ไม่จำเป้นต้องไปทำงานที่อื่น”

นายจรินทร์ อินทยศ ผู้ขับขี่จากชมรมรถยนต์บริการสนามบินพิษณุโลก “เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยลงมาก ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณได้ถูกพัฒนามาเพื่อที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ในพื้นที่ ผ่านการบริการต่างๆบนแพลตฟอร์ม ทำให้เพิ่มจำนวนผู้โดยสารในพื้นที่เรียกใช้บริการมากขึ้น ชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดได้เป็นอย่างดี ขอเชิญชวนเพื่อนๆผู้ขับขี่ หรือผู้สนใจที่ต้องการมีรายได้เสริมมาสมัครขับบนแอปพลิเคชันแคร์คุณ”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ นอกจากมีบริการรถรับส่งหลากหลายประเภทแล้ว ยังมีการให้บริการปรึกษาสุขภาพออนไลน์จากทีมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด อาทิ หมอรู้จักคุณของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร,Health Dome บริการ Telemedicine, ร้านขายยาเคเจฟาร์มาซี, กนกคลินิกกายภาพบำบัด, คุยเรื่องสมุนไพรกับ อ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย, บ้านพักฟื้นผู้สูงอายุสายใยสัมพันธ์เนอสซิ่งโฮม และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สายสุขภาพ Health Academy รวมทั้งร้านอาหาร บ้านฉัน 4 ภาค

ขอเชิญชวนผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ผู้ขับขี่ สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มแคร์คุณได้สมัครฟรีค่าธรรมเนียม 3 เดือน ติดต่อได้ที่ website: www.carekoon.com, LINE: @carekoon หรือโทรศัพท์ติดต่อเบอร์โทรศัพท์ 092-269-6914 หรือ 081-834-7702

เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชันแคร์คุณ

แอปพลิเคชันแคร์คุณเป็นแอปพลิเคชันให้บริการยานพาหนะ (Ride-hailing service) ของคนไทยพัฒนาโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปพัฒนาออกแบบเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19, สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย แอปพลิเคชันแคร์คุณได้รับการสนับสนุนในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการนำร่อง (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563) จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ เอกชน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, เทศบาลนครพิษณุโลก, ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ที่มา: carekoon.com

ม.นเรศวร ฝึกทบทวน อผศ.มน.

เมื่อเวลา 9.00 น. วันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ นายธนเดช นุชรุ่งเรือง รอง หส.ผศ.พ.ล. ร่วมกันเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่ประจำหน่วยมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อทบทวนความรู้ เพิ่มศักยภาพในการรักษาความปลอดภัย ณ ลานจอดรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร “เตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม”

วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมบุคลากรกองอาคารสถานที่ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรับทราบแนวทางการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ณ ห้องประชุม 2 กองอาคารสถานที่

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ได้มอบหมายให้ นายกฤษดา เกิดโภคา หัวหน้างานสาธารณูปโภคและซ่อมบำรุงพร้อมด้วยบุคลากร เริ่มดำเนินการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยั่งยืน ยืดอายุการใช้งานและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เดินหน้าโครงการ Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Smart City และ นวัตกรรมดิจิทัล

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารสัมมนา วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology เพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology ให้ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากแนวคิดของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็กระดับชุมชนและระดับ SMEs จะถูกบริหารจัดการในภาพรวมด้วยเทคโนโลยี SMART Microgrid ที่ชาญฉลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (Flexible Grid) และด้วยเทคโนโลยี Blockchain Network ที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อขายพลังงานกับผู้ผลิตหรือระหว่างกันเอง ณ เวลาที่เหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามแนวนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน โดยโครงการนำร่องสู่การพัฒนาธุรกิจจะขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัย เป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน  เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น  
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรม ย่อมต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรม การผลิตของประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการ ด้วยการสร้าง  Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เช่น startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

ที่มา:  วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin