เตรียมความพร้อมการจัด “งานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023” มหกรรมงานเกษตรภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 18

วันที่ 7 เมษายน 2566 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานการประชุมหารือเตรียมความพร้อมการจัด “งานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023” มหกรรมงานเกษตรภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 18 ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและจัดการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการนี้ โดยมี ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ รศ.ดร.ธนัชสัณห์ พูนไพบูลย์พิพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร ดร.อนุพงศ์ วงค์ตามี รองคณบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ คุณอ้อย ประยูรคำ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าว ณ ห้องประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมเสวนา RUN Talk Online March 2023

สำนักงานเครือข่ายพันธมิตรเพื่อมหาวิทยาลัยวิจัย (RUN Office) ขอเชิญเข้าร่วม RUN Talk Online March 2023 #47 ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 19.00-20.30 น.

Topic : “การสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัยทางชีวภาพ-บทบาทของสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร

Join Zoom Meeting: https://us02web.zoom.us/j/84072892554 , Meeting ID: 840 7289 2554
ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมนิสิตบัณฑิตศึกษา “เต้าหู้ก้อนไข่ขาว” ในน้ำพะโล้

ขอเชิญรับฟังรายการ “บัณฑิตวิทยาลัย มอนิเตอร์” ประเด็น “ผลงานนวัตกรรมนิสิตบัณฑิตศึกษา “เต้าหู้ก้อนไข่ขาว” ในน้ำพะโล้ รางวัลชนะเลิศ Champion การแข่งขันนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022

วันที่ 8 เมษายน 2566 เวลา 14.00-14.30 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ม.นเรศวร FM 107.25 MHz และ https://nuradio.nu.ac.th/

ที่มา: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก

วันที่ 23 มีนาคม 2566 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบหมาย รองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ บุญชู รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นตัวแทนร่วมงาน NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก และร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าการเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมไทยไกรป่าแฝก (U2T ตำบลป่าแฝก) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG พื้นที่ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในงานได้รวมสินค้าเด่นจากฝีมือชุมชนต้นแบบ ที่พัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ ต่อยอดองค์ความรู้ส่งเสริมและผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้จากการแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“NU Marketplace : U2T for BCG” พิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 22 – 23 มีนาคม 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมกิจกรรม “NU Marketplace : U2T for BCG” ในพิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ได้เชิญ ผู้ประกอบการจากจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 9 ราย มาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากที่มาจากการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดย นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดการกิจกรรม และกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบนโยบาย U2T for BCG เพื่อให้สถาบันศึกษา นำองค์ความรู้สู่การพัฒนาผู้ประกอบการ ให้เกิดความเข้มแข็ง ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับกับโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเสมอภาคและยั่งยืน

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ออกบูธนิทรรศการ ในงาน Shift Fundamental to applied Research (FARE Project) ครั้งที่ 2

วันที่ 29 มีนาคม 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจและในความรู้ในเรื่องการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ สู่การนำไปใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกับภาคเอกชน

และอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมออกบูธนิทรรศการ แสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ได้เข้ามาพัฒนาและบ่มเพราะธุรกิจจนสามารถยกระดับและได้การรับรองมาตรฐาน รวมถึงประชาสัมพันธ์บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อีกทั้งยังมีการประชุมหารือความร่วมมือด้านวิจัยและบริการวิชาการ 9 สถาบัน และนำเสนอฐานข้อมูลความร่วมมือด้านการวิจัยและบริการวิชาการ

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU SciPark ต้อนรับคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละรักษาการในตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ ให้การต้อนรับคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ระหว่างกิจการขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัย (Business Brotherhood) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชมสถานวิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ (Cosnat) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร อาคารมหาธรรมราชา ชั้น 2 โซน B มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยมีคณะกรรมการ ดังนี้
– ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– คุณเกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
– คุณนัยนา เปลี่ยนผัน นักพัฒนานโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– คุณนายสนามชัย แพนดี นักส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เข้าร่วมงานประชุมหน่วยงานภาคีเครือข่าย สภาอุตสาหกรรม จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ “หัวข้อวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี2566 และการรับมือของ SMEs” พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมจัดนิทรรศการกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ณ ห้องอุทัยธานี โรงแรมท็อปแลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นศูนย์กลางการให้บริการที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ด้วยการผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมใหม่ “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” เพื่อช่วยลดการตายของลูกสุกร

ม.นเรศวรเปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ช่วยลดการตายของลูกสุกร ส่วนผสมทำมาจากสมุนไพรที่หาง่ายในประเทศ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตมาได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ร.ศ.ดร.วันดี ทาตระกูล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมทีมวิจัยและตัวแทนบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด ได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” จากสมุนไพรไทยลดความเสี่ยงอัตราการตายของลูกสุกร โดยนวัตกรรมนี้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด รับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมวางจำหน่ายในไทยช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรแรกคลอดอยู่แล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า หรือผลิตจากวัตถุดิบชนิดอื่น และกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรมาเลย โดยราคาผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมชิ้นนี้จะวางจำหน่ายในไทยเพียง 250 บาท (น้ำหนัก 5 กิโลกรัม) ซึ่งราคาจะถูกกว่าสินค้านำเข้าและสินค้าประเภทอื่นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่มีอันตรายหากปนเปื้อนในน้ำ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสมุนไพรไทย อาทิ ขมิ้นชัน ไพล และฝาง

รศ.ดร.วันดี กล่าวอีกว่า “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” สามารถใช้พอกตัวลูกสุกร ทำให้ลูกสุกรสามารถ เข้าถึงเต้านมได้เร็วขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลลินทรีย์ที่ทำให้เกิดท้องเสียในลูกสุกร และทำให้พื้นคอกแห้งอยู่เสมอ โดยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายจากภายในประเทศ อีกทั้งสามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวอีกว่า นวัตกรรม “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ประกอบไป ด้วยแร่ธาตุจากธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะไม่ทำให้เกิดความร้อน ไม่มีสารเคมีเจือปน และไม่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะใช้โรยตัวลูกสุกรเพื่อดูดซับความชื้น แล้วยังสามารถลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในคอก รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมภายในคอกให้ปลอดโรคมากยิ่งขึ้น มีจุดเด่นคือลดความชื้น รักษาอุณหภูมิในร่างกายลูกสุกร อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าในมดลูกลูกหมูมีพลังงานสะสมน้อยควรมีการดูดนมมากกว่า ควบคุมแบคทีเรียแห้งกว่า เชื้อโรคก็น้อยกว่า สายสะดือแห้งเร็ว ลดการเกิดสะดืออักเสบ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์สินค้าสุกร ปี 2566 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าปี 2566 การผลิตสุกรในประเทศไทยจะมีปริมาณ 17.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น จาก 15.51 ล้านตัว ของปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 12.66 เนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์สุกรที่เพิ่มขึ้นจะสามารถขยายการผลิต สุกรได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงมีความกังวลจากความเสี่ยงของโรคระบาดในสุกร และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity).

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ผนึกกำลัง 8 มหาวิทยาลัยไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงสู่การตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ระหว่าง 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ณ ห้องประชุม The Brick X อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย หรือ RUN (Research University Network : RUN) เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการวิจัย พัฒนาศักยภาพ สร้างขีดความสามารถทางการศึกษา การวิจัยและพัฒนาของประเทศสู่ภูมิภาค ภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Sincerely, Equally, Excellently) โดยสร้างงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่มีความสำคัญต่อประเทศ ภูมิภาคและของโลกเป็นตัวตั้ง ด้วยความมุ่งมั่นว่างานวิจัยดังกล่าวจะตอบสนอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบแนวความคิดการร่วมมือกันคือ การแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย (resource sharing) โดยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มุ่งพัฒนางานวิจัย ใน 7 คลัสเตอร์ คือ พลังงาน อาหารและน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัสดุศาสตร์ สุขภาพ อาเซียนศึกษา และโลจิสติกส์ มีการแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย อาจารย์และนักวิจัย นิสิตนักศึกษาทุกระดับจนถึงหลังปริญญาเอก (Postdoc) เครื่องมือวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการบริหารงานวิจัย และร่วมกันสร้างโครงการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหางานวิจัยร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรรับผิดชอบคลัสเตอร์โลจิสติกส์ เพื่อรวบรวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันทำงานวิจัย รวมถึงแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านการวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา: สำนักงานบริหารงานวิจัย ม.เชียงใหม่

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin