Archives June 2023

ม.นเรศวร บริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชนแก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีภารกิจด้านการเรียนการสอนและให้บริการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะคลอดและหลังคลอด ซึ่งการจัดการเรียนการสอน รายวิชาสุขภาพและโรคของสตรี 1-2 สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชน โดยให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ให้ความรู้แก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. – 11.00 น. ณ หอผู้ป่วยสูติและนรีเวชกรรม ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ห้องสมุด ที่เท่าเทียมสำหรับนิสิตทุกคน

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ตามที่ น้องทาม ได้เป็นนิสิตใหม่ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ประจำปีการศึกษา 2566 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ นั้น ในการนี้ รศ.ดร.ภญ.รัตติมา จีนาพงษา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และทีมงาน จึงได้เชิญ

ผศ.ดร.ธีรวุฒิ บุญยศักดิ์เสรี และ ผศ.ดร.จรัญญา พหลเทพ อาจารย์ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มาให้คำแนะนำในการจัดสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการของสำนักหอสมุด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เช่น ประตูทางเข้า ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ จุดสืบค้นคอมพิวเตอร์ ห้องศึกษาค้นคว่ากลุ่ม โต๊ะอ่านหนังสือ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ NU Pride เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ NU Pride 🏳️‍🌈 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิตจากคณะต่าง ๆ องค์การนิสิต สภานิสิต และจิตอาสาเข้าร่วมทำกิจกรรม บริเวณด้านหน้าอาคารขวัญเมือง โครงการหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2566 ด้วยทางม้าลายสีสดใส ณ หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ( หอใน )

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสิ่งแวดล้อมป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 งานอนามัยโรงเรียน โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร นำตัวแทนนักเรียน เข้ารับการอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสิ่งแวดล้อมป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย“ ซึ่งจัดโดยสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครพิษณุโลก ที่มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมภายในโรงเรียน จุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดน้ำขัง ซึ่งเป็นสาเหตุการวางไข่ของยุงลาย รวมถึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อร่วมวางแผนป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในสถานศึกษา ณ ห้อง 3100 โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

รายการ “เท่าทันภัยพิบัติ” ทาง ททบ.5 ช่วงข่าวเด่นทันสถานการณ์

รายการ “เท่าทันภัยพิบัติ” ทาง ททบ.5 ช่วงข่าวเด่นทันสถานการณ์ วันที่ 12 มิถุนายน2566

ประเด็น/หัวข้อ : เครื่องมือติดตามจุดความร้อนและความเข้มฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อลดปัญหามลพิษอากาศในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

โดย ดร.พลปรีชา ชิดบุรี รักษาการฯ ผู้อำนวยการการสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการส่งเสริมการพัฒนาการจัด การเรียนการสอน SHARE AND LEARN ตามสไตล์อาจารย์มืออาชีพยุควิถีใหม่ หัวข้อ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ACTIVE LEARNING

โครงการส่งเสริมการพัฒนาการจัด การเรียนการสอน SHARE AND LEARN ตามสไตล์อาจารย์มืออาชีพยุควิถีใหม่ หัวข้อ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ACTIVE LEARNING วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมมหาราช 2 ชั้น 2 อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ลงทะเบียนออนไลน์เข้าร่วมได้ที่ https://shorturl.asia/gokx2

ม.นเรศวร ร่วมเวทีหาความร่วมมือเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษข้ามแดน จ.น่าน จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ทุก ๆ ปี ประเทศไทยเผชิญมลพิษทางอากาศจากหลายปัจจัย อาทิ ฝุ่นการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ควันท่อไอเสียรถยนต์ ไฟป่า หรือการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐพยายามออกมาตราการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา แต่สำหรับมลพิษข้ามพรมแดน จากการเผาหรืออุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับระหว่างประเทศ ฉะนั้น เมื่อไหร่กระแสลมเปลี่ยนทิศก็จะพัดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเข้าไปซ้ำเติมมลพิษทางอากาศในประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้นกระทบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารสำคัญของประชาชนที่อาศัยใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษ ยิ่งโดยเฉพาะ ต.ขุนน่าน และต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติทางการเกษตรไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร เรื่องนี้ถูกพูดถึงกับในกลุ่มชาวบ้าน และต้องการหาคำตอบ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนการจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป. ลาว ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเดียวกันนี้ มีการทำงานเชิงข้อมูลกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ร่วมกันเปิดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลผลกระทบการศึกษา และหารือความร่วมมือกับภาคประชาชนสังคมน่าน ในการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษข้ามแดน ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นอกจากชาวบ้าน คุณครูในพื้นที่ต.ห้วยโก๋น และต.ขุนน่าน ภาคประชาสังคมในน่าน ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังและร่วมเสนอเเนวทางการเฝ้าระวัง

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงความคืบหน้าของผลการติดตามจากระบบเฝ้าระวัง จากการตรวจวัด

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“งานวิจัยที่เราทำที่น่านเริ่มจากประชาชนมีข้อสงสัยและมีความกังวลจากประสบการณ์ที่เขาสังเกตเห็นว่าตั้งแต่มีการตั้งโรงไฟฟ้าที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เขารู้สึกว่าตัวพืชผลทางการเกษตรของเขา เริ่มมีอาการผิดปกติ ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ เช่นอาการพืชมีลักษณะใบไหม้เพิ่มมากขึ้น ข้าวเม็ดรีบ พืชผลทางการเกษตรผลผลิตตกต่ำกว่าที่เคย ชาวบ้านจึงมีความสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับมลพิษที่มาข้ามพรมแดนหรือไม่”

ประชาชนในพื้นที่ยังอิงกับระบบนิเวศค่อนข้างเยอะ มีการจับปลาในพื้นที่มากิน เขาจึงก็มีความกังวลว่าถ้ามีแหล่งปลดปล่อยมลพิษอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมลพิษข้ามพรมแดนมานั้นจะเกิดการตกสะสมของสารพิษในปลาที่พวกเขาบริโภคหรือไม่ งานวิจัยเราจึงเริ่มจากตรงนี้เพื่อตอบความสงสัยของประชาชนด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแรกที่เราทำก็คือ ทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ว่าถ้ามีมลพิษปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามพรมแดนมากับลมมาตกสะสมในชายแดนของจังหวัดน่าน จะมีการตกลงพื้นที่ตรงไหนอย่างไรบ้าง จึงเกิดตัวแผนที่ความเสี่ยงออกมาว่ามลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะไปตกอยู่บริเวณไหน จากนั้นเราก็ทำการเข้าไปเก็บตัวอย่างเพื่อทำการตรวจวัดตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมลพิษที่ตกสะสม อย่างเช่น 

ก๊าซกรด ที่ปลดปล่อยออกมาจากตัวโรงไฟฟ้า ก็จะดูว่ามีการตกสะสมของกรดในพื้นที่เกษตรกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ประชาชนพบว่าพืชผลเสียหายผิดปกติ เราจึงทำการเก็บตัวอย่างวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ 

การเก็บตัวปลา เพื่อดูว่ามีปรอทซึ่งเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าได้ ตกสะสมในระดับที่นัยยะสำคัญหรือไม่ เราก็ตามไปถึงว่าแล้วประชาชนที่บริโภคปลา มีการสะสมของปรอทในเส้นผมหรือไม่ ดูตัวชี้วัดทางชีวภาพตั้งแต่การตกสะสมในระบบนิเวศ ร่วมไปถึงการตกสะสมในอาหารของมนุษย์ และที่สะสมในตัวของมนุษย์

พบว่าเมื่อทำการเก็บตัวอย่างตามที่แผนที่ความเสี่ยงชี้มา พบว่าหลายบริเวณที่แบบจำลองคอมพิวเตอร์คาดการณ์ว่าจะมีการตกกระทบของกรดในระดับที่สามารถเกิดผลกระทบได้ พบว่ามีดินที่มีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับแบบจำลองแผนที่ความเสี่ยง

การเก็บตัวอย่างปลา ตามจุดที่แบบจำลองเราคาดการณ์ว่าน่าจะมีปรอทตกสะสม ก็พบว่าในเนื้อปลามีปรอทสะสมอยู่ และในเส้นผมของคนที่อาศัยในบริเวณที่มีปรอทสะสมเนื้อปลา ก็พบว่ามีปรอทสะสมในเส้นผมของคนในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องทางสถิติทั้งผลกระทบจากก๊าซกรดที่ตกสะสมลงในพื้นที่ ก๊าซกรดกับประสบการณ์ของคนของเกษตรกรในพื้นที่ ที่บอกว่าพืชผลทางการเกษตรเสียหายมีความสอดคล้องกัน แล้วก็ปรอทที่สะสมในปลา ปรอทที่พบในเส้นผมของคน ก็สอดคล้องกับแผนที่ความเสี่ยงที่มีการตกสะสม เราเลยสรุปว่าน่าจะมีมลพิษ ที่ถูกปลดปล่อยจสกประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนเข้ามานั้น เริ่มตกลงมาสะสมลงในพื้นที่ของจังหวัดน่านแล้ว แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย แต่ค่ามลพิษที่เพิ่มขึ้นจากค่าตามธรรมชาติประมาณ 5 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งมลพิษเหล่านี้เป็นมลพิษที่สะสม เพราะฉะนั้นถ้ามีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้ลดการปล่อยตัวมลพิษ ก็อาจจะมีการสะสมถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของคนในชุมชนได้

วิจัยเราต้องการชี้เห็นมีว่าปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ ต้องมีการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ ต้องควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ถึงในระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ซึ่งตอนนี้ยังสามารถแก้ปัญหาได้เพราะพึ่งเริ่มเกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับปัญหาร่วมกันและมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ มีการชี้ให้เห็นว่าต้องลดการปลดปล่อยอย่างไร ต้องฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร ปัญหาเหล่านี่ ที่มีมูลค่าเป็นพันล้านบาท ตาทที่เราประเมินใน 30 ปีสามารถป้องกันได้ 

ผลกระทบทางการเกษตรเป็นการประเมินที่เรียกว่า Worst case scenario ประเมินแบบกรณีเลวร้ายที่สุด ที่อิงถึงความเสียหายที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จากการสอบถามชาวบ้านว่าผลผลิตเขาลดลงตกต่ำอย่างไร เราก็จะเอาความเสียหายตรงนั้นมาคูณ แล้วก็คำนวณขยายไปในพื้นที่ทั้งหมดที่กรดสามารถตกสะสมได้  แล้วพบว่าความเสียหายประมาณ 800 กว่าล้านบาทได้ใน 30 ปี ถ้าไม่ดำเนินการ ความเสียหายระดับนี่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชนได้โดยที่ประชาชนเองก็จะมีความสงสัยอยู่ตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมผลผลิตเสียหาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมลพิษข้ามพรมแดน แม้ว่าความเสียหายจะ 800 ล้านบาท แต่มันคือความเสียหายที่เราคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีซึ่งสามารถป้องกันได้ ถ้าเรายอมรับปัญหาและลดการปล่อยตัวมลพิษที่แหล่งกำเนิด เราจะสามารถทำให้ความเสียหายนั้นไม่เกิดหรือว่าลดน้อยลงที่สุดที่เป็นไปได้

ในระยะที่ 2 เราจะทำการพัฒนาเครื่องมือที่ให้ชุมชนสามารถเก็บตัวอย่างได้และชุมชนที่เก็บตัวอย่างที่เห็นความผิดปกติในพื้นที่ ทำงานกับนักวิจัยแล้วประเมินผลว่าเกี่ยวข้องกับมลพิษใหม่หรือไม่ ส่งตัวอย่างมาตรวจในวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้นในห้องปฏิบัติการ ที่ผ่านมาเราพัฒนาร่วมกับชุมชนเป็นหลักแต่ว่าการจะป้องกันปัญหาการที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิด และลดผลกระทบพันล้านให้ได้ ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วในการป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิด กับภาคเอกชนที่เป็นผู้ปลดปล่อยมลพิษ เพราะเป็นคนที่สามารถบอกได้ว่าเราสามารถลดการปล่อยจากปลายป่องได้ เพื่อให้ผลกระทบเหล่านี้ไม่เกิด เพราะฉะนั้นในโครงการในระยะต่อไป คือ 

1. เราจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นโดยการขยายจำนวนคนที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลเก็บตัวอย่างรายงานผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองสังเกตเห็นในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น ก็คือสร้างเดต้าให้เป็นบิ๊กเดต้ามากขึ้น 

2. จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชนอยู่แล้วมาอิงข้อมูลตรงนี้ เพราะว่าประชาชนได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น รายงานผ่านตัวแอพพลิเคชั่น c-site บันทึกไว้ในฐานข้อมูลแล้ว จะทำอย่างไรให้งานภาครัฐเชื่อมกับฐานข้อมูลนี้ เหมือนที่ภาควิชาการเชื่อมภาคประชาชน ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาทำงานร่วมกันเป็น 3 ภาคส่วน 

3. หน่วยงานรัฐต้องช่วยในการวางกลไกในการทำให้ลดการปล่อยมลพิษข้ามพรมแดนซึ่งต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาต้องทำให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษนะครับยอมรับในกระบวนการเห็นด้วยกับกระบวนการและเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ คือไม่ได้มาเพื่อปิดโรงไฟฟ้า ไม่ได้มาเพื่อทำให้เขาเสียหายนะ แต่มาเพื่อช่วยเขาในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะที่ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าระวังจากตรวจวัด เล่าว่า เราเก็บตัวอย่างทางด้านอากาศ น้ำฝน และน้ำผิวดิน ส่วนทางด้านชีวภาพเราจะเก็บไลเคนและเปลือกไม้ที่นำจะไปตรวจสารเคมี ข้อค้นพบของเราอันดับแรก คือทางด้านเคมีของอาทางด้านอากาศและด้านชีวภาพที่ชี้ไปในทางเดียวกัน คือน่าจะมีแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแหล่งไหน เราระบุได้จากสารเคมีบางตัว อย่างเช่น ตัวโลหะหนัก แมงกานีส งานวิจัยระบุว่ามาจากแหล่งกำเนิด คือ 1. ฝุ่นถนน 2. โรงไฟฟ้าถ่านหิน 3. การจราจร 3 แหล่งนี้เป็นแหล่งของมลพิษทางอากาศ แต่เรายังไม่สามารถระบุสัดส่วนว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ แต่เรารู้ว่ามาจาก 3 แหล่งนี้

เราทำการเก็บตัวอย่างโดยใช้สารเคมีในการตรวจวัดอย่างเช่น

  • อากาศเราวัดฝุ่น PM 2.5 ในลักษณะเรียลไทม์โดยเราใช้โลว์คอสเซ็นเซอร์ติดตั้งในหมู่บ้านต่าง ๆ ติดตามตรวจสอบ 9 พื้นที่ เก็บตัวอย่างของ PM 2.5 แบบเรียลไทม์ และเก็บฝุ่นตัวอย่างที่เป็นฝุ่นจริง ๆ โดยใส่ตัวฟิลเตอร์แล้วนำไปวิเคราะห์ว่าในฝุ่นนั้น มีไอออนขนาดไหน มีโลหะหนักกี่ชนิด และมีปริมาณมากน้อยเท่าไร ซึ่งจะสามารบ่งบอกถึงที่มาของฝุ่นได้ว่า เพราะฝุ่นมาจากอะไร เกิดจากที่ไหนจะสามารถระบุเหมือนเป็นรอยนิ้วมือ 
  • ก๊าซ เราใช้ Test kit ที่เราออกแบบและปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาจากอันเดิม ซึ่งเพิ่งสามารถใช้งานได้ง่ายนักเรียนและครู สามารถใช้งานได้ ตัวเทสคิดเราตรวจสอบติดตามตรวจสอบ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการเผาไหม้ ทั้งจากการจราจรทั้งจากโรงไฟฟ้าและแหล่งอื่น ๆ ซึ่งตัวนี้ก็จะเป็นการติดตามตรวจสอบอย่างง่ายที่สามารถใช้งานได้
  • ฝน ตัวอย่างน้ำฝนเราให้เจ้าหน้าที่เก็บและโรงเรียนเป็นคนเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไอออน ที่ละลายในน้ำตรวจสอบค่าพีเอช ค่าอีซี เพื่อดูว่าเป็นฝนกรดหรือไม่ มีมลพิษปลอมปนมาหรือเปล่า อย่างเช่นไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีปนมาหรือไม่
  • น้ำผิวดิน เก็บตัวอย่างจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีในหมู่บ้าน เก็บแหล่งน้ำที่มันที่ชาวบ้านใช้งานในชีวิตประจำวันนำไปตรวจสอบค่าอีซี ค่าพีเอช โลหะหนัก เพื่อนำมาวิเคราะห์
  • ส่วนชีวภาพนั้นเราทำการตรวจสอบไรเคน ตัวไรเคนจะมีหลายชนิดมาก ทั้งทนต่อมลพิษทางอากาศและไม่ทนต่อมลพิษทางอากาศซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศ และเก็บตัวอย่างอื่น ๆ เช่นเก็บเปลือกไม้ มาตรวจดูว่ามีการสะสมของโลหะหนักหรือไม่ อันนี้ก็เป็นกระบวนการทางเคมีที่ตรวจสอบมลพิษที่อยู่ในอากาศ และเคมีที่ตรวจสอบทางชีวภาพ

ระยะที่ 2 อันเดิมเราก็ยังทำอยู่เพื่อเป็นข้อมูล Baseline อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเราจะเก็บให้มันสมบูรณ์มากขึ้น แต่ว่าอันที่เราเก็บเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 คือ 1.เราจะเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์สารอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือสารก่อมะเร็ง สารก่อมะเร็งชนิดนี้จะอยู่ในฝุ่น 2. เราจะเก็บตัวอย่างจากมนุษย์ คือเก็บตัวอย่างจากปัสสวะ ว่ามีการตกค้างในมนุษย์หรือไม่ โดยสารกลุ่มที่จะบ่งบอกว่ามีการสะสมของสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น มาจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง pm2.5 หรือไม่ จะเป้นส่วนที่ทำเพิ่มขึ้น

อีกอย่างคือ ตัวติดตามตรวจสอบ pm 2.5 หรือว่าเครื่องโลว์คอสเซ็นเซอร์ เราจะมีการบูรณาการเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะนำไปติดตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือประเทศลาว และเราจะมีการทำงานร่วมกับสำนักงานควบคุมโรคและกรมอนามัย ที่มาร่วมทำในของเรื่องสุขภาพ หาแนวทางและการป้องกันในการระวังเฝ้าระวัง สภาวะสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐอย่างสาธารณสุขมาช่วยเพื่อขยายองค์ความรู้แล้วก็ขยายการเฝ้าระวังให้มากขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้ตื่นตัวมากขึ้น

โดยเวทีในครั้งนี้มีคุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านถึงผลกระทบของมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา และผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป  

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จากผลวิจัยทำให้ได้รับรู้ว่ามันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตแล้วก็ต่อสุขภาพ ทั้งในเรื่องปลาที่อยู่ในต้นน้ำของบ้านน้ำรีที่มีค่าปรอทสูง ส่งผลกระทบต่อพืชและต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ที่มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ หรือเป็นมะเร็ง แม้ยังไม่พบผู้ป่วยสูงมากก็ตาม จากข้อมูลของนักวิจัยที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดและมีทิศทางลมพัดที่มาจากตัวโรงไฟฟ้าเข้ามาที่บ้านน้ำรีและบ้านน้ำช้าง ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมันก็มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงของเดือนปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและสารปรอท ซึ่งอันนี้เป็นภาพรวมของผลกระทบที่มีการตั้งโรงไฟฟ้า และเมื่อได้ฟังจากคนในพื้นที่คิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น 

“เขาไม่ได้รับและไม่ได้ใช้ไฟ ตามที่โรงไฟฟ้าเคยบอกเขาไว้ ทำให้ชาวบ้านก็ไม่ได้ประโยชน์จากการมีโรงไฟฟ้าเลย เพราะว่าโรงไฟฟ้าเป็นการขายไฟให้แก่ประเทศไทย ซึ่งต้องเข้าสู่ระบบกริดในสายส่งที่จะส่งไปให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ใช้”

นอกจากนี้ก็จะมีผู้ที่จะมาร้องเรียนกสม.เข้าตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าในหงสา กสม.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของกสม. ซึ่งกระบวนการของกสม.ในการตรวจสอบ คือ เข้ารับฟังข้อมูลจากผู้ร้องและฟังข้อมูลจากตัวของบริษัทบริษัทหงสาด้วย ซึ่งหุ้นใหญ่ก็เป็นหุ้นที่มาจากบ้านปูนและลาดบุรีของกฟผ.เอง ซึ่งกสม.เราก็จะตรวจสอบซึ่งหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นคนไทยเราสามารถตรวจสอบ 

การตรวจสอบผู้ประกอบการภาคเอกชนกสม.จะมีหลักในการตรวจสอบคือหลักของสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามธุรเกี่ยวกิจกับสิทธิมนุษยชน เราจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบ นอกเหนือจากการตรวจสอบด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ตัวสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การมีโครงการพัฒนาและส่งผลกระทบต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีแล้วก็ได้รับการเยียวยาหากได้รับผลกระทบจากตัวโครงการ

ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบไปถึงขั้นที่เรียกว่าเขามีการลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าอย่างไรการประกอบกิจการเขาเป็นอย่างไร และผลกระทบที่มาจากการประกอบกิจการนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และชาวบ้านในพื้นที่มีข้อเสนออย่างไร ที่จะให้กสม.ช่วยคุ้มครองสิทธิหรือเยียวยาสิทธิผลกระทบจากนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเราจะใช้กระบวนการหารือจากทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการที่มีข้อมูลงานวิจัยที่มารองรับ เราต้องหาทางออกร่วมกันเพราะว่ากรณีการตรวจสอบของกสม.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนกับโครงการพัฒนา การแก้ปัญหามันมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อความผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น

โดยระบบเทคโนโลยีและงานวิชาการพัฒนาไปมากนั้น จึงสนับสนุนนักวิจัย สวรส. เสนอให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ซึ่ง กสม.จะใช้หลักนี้ในการตรวจสอบกิจการโครงการว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นหลักในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ซึ่งจะยั่งยืนเมื่อเทียบกับให้ภาครัฐเป้นผู้ตรวจสอบมลพิษเพียงอย่างเดียว แล้วรู้ข้อมูลกันภายในระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้คนในพื้นที่ร่วมรับรู้ข้อมูลด้วย

โรงไฟฟ้าหงสา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2553 ก่อนจะเปิดดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี มีพื้นที่รวม 76.4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งเชื้อเพลิงมาจากถ่านหินลิกไนต์ที่ผลิตจากเหมืองแร่ในพื้นที่โครงการ ปริมาณสำรองลิกไนต์อยู่ที่ 577.4 ล้านตัน โรงไฟฟ้าต้องการปีละ 14.3 ล้านตัน รวมอายุสัมปทานทั้งหมด 370.8 ล้านตัน ว่ากันว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 900 เมกะวัตต์ โดยเป็นการแบ่งขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ และขายให้ลาว 100 เมกะวัตต์ ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (จากโรงไฟฟ้าถึงหลวงพระบาง)

ที่มา: thecitizen.plus

ร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

เมื่อวันที่ 7-9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิษฐ์ภัณฑ์ แคนลา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการวิชาการได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะแม่ข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และผู้บริหาร 8 เครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ณ ประสานสุข วิลล่า บีช

รีสอร์ท อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่าย C-อพ.สธ. ให้มีความต่อเนื่องในการสนองงานโครงการพระราชดำริ อพ.สธ.

ให้บรรลุผลตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ร่วมกัน การทำความรู้จักกันระหว่างเครือข่าย สร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการในการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ตามบริบทของแต่ละภูมิภาค

โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นกลไกในการพัฒนาด้านการวิจัยและการบริการวิชาการ ที่จะช่วยตอบโจทย์การสนองพระราชดำริของ สป.อว. เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ต่อไป ทั้งนี้ ยังเป็นเวทีที่จัดให้ประธานเครือข่ายฯ แต่ละภูมิภาคได้นำเสนอผลการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคของตนเองตามแผนยุทธศาสตร์เครือข่าย C-อพ.สธ. อีกด้วย

ที่มา: กองส่งเสริมการบริการวิชาการ ม.นเรศวร

ประกวดปลากัดนเรศวร (NU Siamese Fighting Fish Competition)

ขอเชิญชวนร่วมการประกวดปลากัดนเรศวร (NU Siamese Fighting Fish Competition) ในงานเกษตรนเรศวร ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณโถงชั้น 1 ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

โดยมีกำหนดการดังนี้
– วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 08.30 – 16.30 น. “รับสมัครปลากัด”
– วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 09.00 – 16.00 น. “ตัดสินการประกวดปลากัด”
– วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 10.00 – 12.00 น. “พิธีมอบรางวัล”

รุ่นปลาที่จัดประกวด
> A ปลากัดครีบสั้น (SHORT FIN CLASS)
>> A1ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว รวมทุกประเทสี (PK)
>> A2ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีเดี่ยว (HMPK) (SOLID COLOR)
>> A3ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีผสม รวมทุกประเภทสี (HMPK OPEN)
>> A4ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีนีโม่ (HMPK NEMO)
>> A5ปลากัดครีบสั้น หางคู่ รวมทุกประเภทสี (DTPK)
>> A6ปลากัดครีบสั้น หางมงกุฎ รวมทุกประเภทสี (CTPK)

> B ปลากัดครีบยาว (LONG FIN CLASS)
>> B1ปลากัดครีบยาว หางพู่กัน รวมทุกประเภทสี (VT)
>> B2ปลากัดครีบยาว หางพระจันทร์ครึ่งดวง รวมทุกประเภทสี (HM)
>> B3ปลากัดครีบยาว หางคู่ รวมทุกประเภทสี (DT)
>> B4ปลากัดครีบยาว หางมงกุฎ รวมทุกประเภทสี (CT)

> C ปลากัดประเภทพิเศษ
>> C1ปลากัดดาวรุ่ง รวมทุกประเภทหาง ทุกประเภทสี (JUNIOR OPEN)
>> C2ปลากัดเพศเมีย รวมทุกประเภทหาง ทุกประเภทสี (FEMALE OPEN)
>> C3ปลากัดสีและลายคล้ายธงชาติ (สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน) รวมทุกประเภทหาง

> D ปลากัดหูช้างนเรศวร
>> D1ปลากัดหูช้างนเรศวร รวมทุกประเภทหาง ทุกประเภทสี (DUMBO OPEN)

กติกา
1. ปลากัดครีบสั้น ขนาดไม่ต่ำกว่า 1.3 นิ้ว (วัดจากปลายปากถึงโคนหาง)
2. ปลากัดครีบยาว และปลากัดเพศเมีย ขนาดไม่ต่ำกว่า 1.3 นิ้ว (วัดจากปลายปากถึงโคนหาง)
3. ปลากัดดาวรุ่ง ขนาดไม่เกิน 1.2 นิ้ว (วัดจากปลายปากถึงโคนหาง)

เงินรางวัล
– รางวัลชนะเลิศ ​​เงินรางวัล 1,500 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ​เงินรางวัล 1,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ​เงินรางวัล 500 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
– รางวัลชมเชย 2 รางวัลได้รับประกาศนียบัตร
“รางวัล Best in Show​​เงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมถ้วย”

หมายเหตุ
– เงินรางวัลจะจ่ายในประเภทที่มีจำนวนปลาเข้าประกวด 25 ตัวขึ้นไป
– ประเภทที่มีปลาประกวดไม่ถึง 25 ตัว จะได้รับเพียงถ้วยรางวัล ไม่ได้รับเงินรางวัล
– รางวัล Best in Show​ จะคัดเลือกมาจากรางวัลชนะเลิศของทุกประเภท

สามารถสมัครทางออนไลน์ได้ทาง https://docs.google.com/…/1FAIpQLSf…/viewform… สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมวิทยาศาสตร์การประมง คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: วิทยาศาสตร์การประมง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมจัดนิทรรศการ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ตามแนวทางการพัฒนา BCG Model จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นเกียรติในงาน Environmental Day ตามแนวทางการพัฒนา BCG Model จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโลก คือ ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยภาคีเครือข่ายการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก จำนวนทั้งสิ้น 17 แห่ง ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายหน่วยงานราชการ จำนวน 5 หน่วยงาน ภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา จำนวน 2 แห่ง ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง โดยในงานเป็นการนำเสนอรูปแบบ หรือวิธีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมทั้งการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร และการ จัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคนิค วิธีการที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละหน่วยงาน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดหรือขยายผลรูปแบบ หรือ วิธีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ เพื่อการขยายผลสู่การปฏิบัติ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” (Phitsanulok The City of Recycling)

พร้อมนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมลงนามความร่วมมือ “ภาคีเครือข่ายการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก” ตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ BCG Model โดยมีนายภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ และผู้บริหารหน่วยงาน/องค์กร ที่ร่วมลงนามความร่วมมือ ประกอบด้วย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน สถาบันการศึกษา 2 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง และภาคเอกชน/รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 17 หน่วยงาน/องค์กร เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย สร้างความร่วมมือ และสนับสนุนด้านวิชาการ หรือต่อยอด การดำเนินงานการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งการปรับใช้ หลักการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ (BCG Model) ในสาขา หรือด้านอื่นๆ ต่อไป และจัดกิจกรรม หรือสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลงานด้านวิชาการที่ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ (BCG Model) ในสาขา หรือด้านอื่นๆ ณ ลานวงเวียนประตู 1-6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้/นิทรรศการ
1. ฐานกิจกรรมการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ตลาด นัด และ Recycle Station ที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและเครือข่ายชุมชน และภาคเอกชน จำนวน 8 บูท โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอความรู้/ต้นแบบการจัดทำระบบข้อมูล GIS ที่ เกี่ยวกับพื้นที่เผาขยะและมลพิษจากการเผาในพื้นที่ และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่ม มูลค่าขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร และพลังงานทดแทน
2. ฐานกิจกรรมการคัดแยกขยะและการนำขยะเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน โดย บริษัท วงษ์ พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท โคลเวอร์พิจิตร (CPX) จำกัด
3. ฐานกิจกรรม Organic Garden โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ เครือข่ายชุมชน/องค์กรเอกชน
4. ฐานกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม ในการเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์จาก ขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ของประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัล พิษณุโลก และผู้มาร่วมงาน โดย ทีมงานของศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุม มลพิษที่ 3 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin