ม.นเรศวร ขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หนุนเกษตรกรสร้างรายได้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยของ “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ดำเนินงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย วช. ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการศึกษาการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะ เลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ทุเรียนในอนาคต และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ทุเรียนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงพันธุ์การค้าที่มีชื่อเสียง โดยทุเรียนที่ทำการทดลองมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างทวีคูณ ซึ่งจะส่งผลให้ทุเรียนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เกษตรผู้ปลูกและผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะได้รับในการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ 1. ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ เช่น ลักษณะของเนื้อ รสชาติ คงอัตลักษณ์ทุเรียนชนิดนั้น ๆ เป็นต้น 2. สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่มีความต้องการเพาะปลูกทุเรียนที่มีปริมาณมากในท้องตลาดได้ 3. ส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนของที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ให้มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และ 4. สามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

ในโอกาสนี้ คณะนักวิจัยได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมผลผลิตที่ได้จากโครงการฯ โดยมี คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เกษตรกรเจ้าของสวนฯ ให้การต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนแก่คณะสื่อมวลชนอีกด้วย

คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เจ้าของสวนประภาพรรณ เปิดเผยว่า ในนามของสวนประภาพรรณ ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งงานวิจัยจาก ม.นเรศวร ได้มีส่วนช่วยให้การทำสวนทุเรียนประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่ดีขึ้น และสวนประภาพรรณจะเป็นต้นแบบให้กับสวนทุเรียนบริเวณใกล้เคียงได้มาศึกษาความสำเร็จจากการทำสวนทุเรียนตามแนวทางการวิจัยต่อไป

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

มน. ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)”

สืบเนื่องจากการที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)” เชิงพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเน้นนำองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน อันจะเป็นทางเลือก และทางรอดสำหรับอนาคต

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ร่วมทำการหารือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวร มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมหาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมเป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ วิชาการ วิจัยและนวัตกรรม และสนับสนุนทรัพยากรบุคคลทางด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศที่สามารถตอบโจทย์ แก้ไข ปัญหาในพื้นที่ และจะร่วมพัฒนาความร่วมมือกับจังหวัดพิษณุโลกในลำดับถัดไป

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมผนึกกำลังจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570

NU SciPark นำทีมโดย ดร.สราวุธ สัตยากวี รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 1/2566 ในการระดมความคิดเห็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 09:00 น. ณ โรงแรมแกรนด์วิษณุ จังหวัดนครสวรรค์ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิเคราะห์ และจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ระยะที่ 2” เพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจสำหรับภาคเอกชนในพื้นที่ให้มีทิศทางภารกิจและบทบาทไปในทางเดียวกัน และสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่

โดยได้รับเกียรติจาก นายสราวุธ สงวนเผ่า ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ

NU SciPark ขอขอบคุณทีมที่ปรึกษาในการวิเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ระยะที่ 2 โดยมี
– อาจารย์ศรัณย์พร เกิดเกาะ สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ
– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ บูรณจารุกร สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์
– อาจารย์กิตติพัฒน์ แสนทวีสุข สังกัดคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนการพัฒนาศรษฐกิจเชิงพื้นที่ จากการที่ภาคเอกชนนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคที่ตรงตามความต้องการไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตลาดสีเขียวคณะเกษตรศาสตร์ฯ มาแล้วจ้าา

วันที่ 26 เมษายน 2566 แม้ฝนตก!!..ตลาดสีเขียวคณะเกษตรศาสตร์ฯ ยังเปิดจำหน่ายเหมือนเดิมนะคะ มาช้อป ชิม ใช้กันเหมือนเดิมค่ะ

ตลาดสีเขียว “Green and Clean Market” ซึ่งภายในงานมีการจัดจำหน่ายสินค้า ผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ ผักไฮโดรโปรนิกส์ อาหาร ปลาแดดเดียว ไขไก่ราคาถูก ปลาสวยงาม จากกลุ่มเกษตรกรพันเสา เกษตรกรบึงพระ เกษตรกรบางระกำ ผลิตภัณฑ์ของนิสิต ทั้งนี้ตลาดสีเขียวจะเปิดทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 – 16.30 น. ณ ลานจอดรถด้านหน้าคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เตรียมความพร้อมการจัด “งานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023” มหกรรมงานเกษตรภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 18

วันที่ 7 เมษายน 2566 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานการประชุมหารือเตรียมความพร้อมการจัด “งานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023” มหกรรมงานเกษตรภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 18 ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและจัดการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการนี้ โดยมี ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ รศ.ดร.ธนัชสัณห์ พูนไพบูลย์พิพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร ดร.อนุพงศ์ วงค์ตามี รองคณบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ คุณอ้อย ประยูรคำ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าว ณ ห้องประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

ม.นเรศวร พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร

NU SciPark ออกบูธบริการให้คำปรึกษาและประชาสัมพันธ์การให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการควบคุมคุณภาพและการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

จัดงานโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก

วันที่ 23 มีนาคม 2566 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบหมาย รองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ บุญชู รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นตัวแทนร่วมงาน NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก และร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าการเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมไทยไกรป่าแฝก (U2T ตำบลป่าแฝก) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG พื้นที่ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในงานได้รวมสินค้าเด่นจากฝีมือชุมชนต้นแบบ ที่พัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ ต่อยอดองค์ความรู้ส่งเสริมและผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้จากการแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“NU Marketplace : U2T for BCG” พิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 22 – 23 มีนาคม 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมกิจกรรม “NU Marketplace : U2T for BCG” ในพิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ได้เชิญ ผู้ประกอบการจากจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 9 ราย มาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากที่มาจากการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดย นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดการกิจกรรม และกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบนโยบาย U2T for BCG เพื่อให้สถาบันศึกษา นำองค์ความรู้สู่การพัฒนาผู้ประกอบการ ให้เกิดความเข้มแข็ง ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับกับโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเสมอภาคและยั่งยืน

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรม Clean Cook ภายใต้โครงการ เสริมสร้างสมรรถนะเครือข่าย ประจำปี 2566

งานบริการสวัสดิการนิสิต กองกิจการนิสิต ได้จัดกิจกรรม Clean Cook ภายใต้โครงการ เสริมสร้างสมรรถนะเครือข่าย ในแผนปฏิบัติการประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 19 – 20 มกราคม 2566 ณ กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจาก นางพรธิดา บุญยะโรจน์ หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต เป็นประธานเปิดการอบรมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมฯ

ในครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาศักยภาพด้านการประกอบการร้านค้าและการให้บริการ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญเน้นสถานที่จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบกิจการอาหารและผู้สัมผัสอาหาร ปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี และโลหะหนัก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ กิจกรรมฯ

นอกจากนี้ควรเพิ่มอาหารทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภค เช่น อาหารสุขภาพ ฮาลาน มังสวิรัติ เป็นต้น ไว้เป็นตัวเลือกในการบริโภค โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 268 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการร้านค้า จำนวน 131 คน และผู้สัมผัสอาหาร จำนวน 137 คน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก และขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมใหม่ “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” เพื่อช่วยลดการตายของลูกสุกร

ม.นเรศวรเปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ช่วยลดการตายของลูกสุกร ส่วนผสมทำมาจากสมุนไพรที่หาง่ายในประเทศ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตมาได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ร.ศ.ดร.วันดี ทาตระกูล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมทีมวิจัยและตัวแทนบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด ได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” จากสมุนไพรไทยลดความเสี่ยงอัตราการตายของลูกสุกร โดยนวัตกรรมนี้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด รับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมวางจำหน่ายในไทยช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรแรกคลอดอยู่แล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า หรือผลิตจากวัตถุดิบชนิดอื่น และกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรมาเลย โดยราคาผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมชิ้นนี้จะวางจำหน่ายในไทยเพียง 250 บาท (น้ำหนัก 5 กิโลกรัม) ซึ่งราคาจะถูกกว่าสินค้านำเข้าและสินค้าประเภทอื่นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่มีอันตรายหากปนเปื้อนในน้ำ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสมุนไพรไทย อาทิ ขมิ้นชัน ไพล และฝาง

รศ.ดร.วันดี กล่าวอีกว่า “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” สามารถใช้พอกตัวลูกสุกร ทำให้ลูกสุกรสามารถ เข้าถึงเต้านมได้เร็วขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลลินทรีย์ที่ทำให้เกิดท้องเสียในลูกสุกร และทำให้พื้นคอกแห้งอยู่เสมอ โดยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายจากภายในประเทศ อีกทั้งสามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวอีกว่า นวัตกรรม “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ประกอบไป ด้วยแร่ธาตุจากธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะไม่ทำให้เกิดความร้อน ไม่มีสารเคมีเจือปน และไม่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะใช้โรยตัวลูกสุกรเพื่อดูดซับความชื้น แล้วยังสามารถลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในคอก รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมภายในคอกให้ปลอดโรคมากยิ่งขึ้น มีจุดเด่นคือลดความชื้น รักษาอุณหภูมิในร่างกายลูกสุกร อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าในมดลูกลูกหมูมีพลังงานสะสมน้อยควรมีการดูดนมมากกว่า ควบคุมแบคทีเรียแห้งกว่า เชื้อโรคก็น้อยกว่า สายสะดือแห้งเร็ว ลดการเกิดสะดืออักเสบ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์สินค้าสุกร ปี 2566 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าปี 2566 การผลิตสุกรในประเทศไทยจะมีปริมาณ 17.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น จาก 15.51 ล้านตัว ของปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 12.66 เนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์สุกรที่เพิ่มขึ้นจะสามารถขยายการผลิต สุกรได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงมีความกังวลจากความเสี่ยงของโรคระบาดในสุกร และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity).

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin