เปิดใช้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ และโครงการ GROW NU: ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 19.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานพิธีเปิดใช้ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและโครงการ GROW NU: ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร ซึ่งในการปรับปรุงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีแนวความคิดในการออกแบบโดยเริ่มจากการศึกษาประวัติและคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้พัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับเกียรติประวัติขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

และโครงการ GROW NU:ต้นไม้ ความสุข สังคมนเรศวร โดยมีการปลูกต้นเสลา ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และถั่วบราซิล ซึ่งภาชนะในการปักชำ ขยายพันธุ์ถั่วบราซิลได้มาจากการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ทดแทนถุงเพาะชำต้นไม้และนำน้ำที่ได้จากการบำบัด มาใช้ในการรดน้ำดูแล ถั่วบราซิล และไม้ประดับอื่นๆในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย เพื่อสร้างความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัย

โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมพิธีเปิดกันอย่างพร้อมเพรียง ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมจัดนิทรรศการ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ตามแนวทางการพัฒนา BCG Model จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นเกียรติในงาน Environmental Day ตามแนวทางการพัฒนา BCG Model จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโลก คือ ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยภาคีเครือข่ายการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก จำนวนทั้งสิ้น 17 แห่ง ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายหน่วยงานราชการ จำนวน 5 หน่วยงาน ภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา จำนวน 2 แห่ง ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง โดยในงานเป็นการนำเสนอรูปแบบ หรือวิธีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมทั้งการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร และการ จัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคนิค วิธีการที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละหน่วยงาน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดหรือขยายผลรูปแบบ หรือ วิธีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ เพื่อการขยายผลสู่การปฏิบัติ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” (Phitsanulok The City of Recycling)

พร้อมนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมลงนามความร่วมมือ “ภาคีเครือข่ายการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก” ตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ BCG Model โดยมีนายภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ และผู้บริหารหน่วยงาน/องค์กร ที่ร่วมลงนามความร่วมมือ ประกอบด้วย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน สถาบันการศึกษา 2 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง และภาคเอกชน/รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 17 หน่วยงาน/องค์กร เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย สร้างความร่วมมือ และสนับสนุนด้านวิชาการ หรือต่อยอด การดำเนินงานการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งการปรับใช้ หลักการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ (BCG Model) ในสาขา หรือด้านอื่นๆ ต่อไป และจัดกิจกรรม หรือสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลงานด้านวิชาการที่ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ (BCG Model) ในสาขา หรือด้านอื่นๆ ณ ลานวงเวียนประตู 1-6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้/นิทรรศการ
1. ฐานกิจกรรมการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ตลาด นัด และ Recycle Station ที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและเครือข่ายชุมชน และภาคเอกชน จำนวน 8 บูท โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอความรู้/ต้นแบบการจัดทำระบบข้อมูล GIS ที่ เกี่ยวกับพื้นที่เผาขยะและมลพิษจากการเผาในพื้นที่ และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่ม มูลค่าขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร และพลังงานทดแทน
2. ฐานกิจกรรมการคัดแยกขยะและการนำขยะเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน โดย บริษัท วงษ์ พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท โคลเวอร์พิจิตร (CPX) จำกัด
3. ฐานกิจกรรม Organic Garden โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ เครือข่ายชุมชน/องค์กรเอกชน
4. ฐานกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม ในการเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์จาก ขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ของประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัล พิษณุโลก และผู้มาร่วมงาน โดย ทีมงานของศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุม มลพิษที่ 3 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากขวดที่ถูกทอดทิ้งและดูไร้ค่า กลับมาเป็นภาชนะปลูกที่คงทนและประหยัด “NU Going Green”

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 บุคลากรกองอาคารสถานที่เริ่มดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยตั้งเป้าหมายที่จะปลูกถั่วบราซิลและไม้ประดับอื่นๆ ให้เต็มพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว จุดพักผ่อนของประชาคมซึ่งภาชนะในการปักชำ ขยายพันธุ์ถั่วบราซิลได้มาจากการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ทดแทนถุงเพาะชำต้นไม้และยังมีโครงการที่จะนำน้ำที่ได้จากการบำบัด มาใช้ในการรดน้ำดูแล ถั่วบราซิล และไม้ประดับอื่นๆในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

ถั่วบราซิล ถั่วปินโต/ถั่วเปรู/ถั่วลิสงเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Arachis pintoi Krapov. & W.C.Gregory
วงศ์: Leguminosae – Papilionoideae
ประเภท:ไม้ล้มลุกอายุหลายปี
ทรงพุ่ม:ลำต้นทอดเลื้อยคลุมดิน รากออกตามข้อ
ใบ: ประกอบแบบขนนกออกตรงข้าม ใบย่อย 4 ใบ รูปไข่ กว้าง 1 – 3 เซนติเมตร ยาว 1 – 7 เซนติเมตร
ดอก: รูปถั่ว สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2 – 4 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี
อัตราการเจริญเติบโต: เร็ว
ดิน: ดินร่วนและดินร่วนปนทราย
ขยายพันธุ์: ปักชำกิ่ง

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“NU Going Green” เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นภาชนะปลูกต้นไม้ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12: การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ผ่านโครงการ “NU Going Green” ที่มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ โดยตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในเป้าหมายนี้ คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

เปลี่ยนขวดพลาสติกให้กลายเป็นภาชนะเพาะชำ บุคลากรกองอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มโครงการที่สร้างสรรค์โดยนำขวดพลาสติกที่ไม่ได้ใช้งาน มาประยุกต์เป็นภาชนะเพาะชำสำหรับปลูกถั่วบราซิลและพืชประดับต่างๆ ทดแทนการใช้ถุงเพาะชำพลาสติกทั่วไป วิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในมหาวิทยาลัย แต่ยังส่งเสริมการใช้งานวัสดุอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

เพิ่มพื้นที่สีเขียวและจุดพักผ่อน พื้นที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีความร่มรื่น โดยมีการปลูก ถั่วบราซิล (Arachis pintoi) ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะสมกับการคลุมดิน เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วและสามารถป้องกันการชะล้างหน้าดินได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการปลูกไม้ประดับอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมความสวยงามและเพิ่มความหลากหลายของพืชในพื้นที่

การใช้น้ำจากระบบบำบัด อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญของโครงการนี้คือการใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วมารดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ และยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทของการพัฒนาสีเขียว

ลักษณะและประโยชน์ของถั่วบราซิล ถั่วบราซิลเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยคลุมดิน มีลักษณะใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีขนาดเล็กและดอกสีเหลืองสดใสที่ออกดอกตลอดปี จึงเหมาะสำหรับการปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อเพิ่มความเขียวขจีในพื้นที่ ข้อดีที่สำคัญของถั่วบราซิลคือการเจริญเติบโตที่เร็ว และสามารถขยายพันธุ์ง่ายด้วยวิธีการปักชำ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินและเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่

บทบาทของมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ “NU Going Green” เป็นตัวอย่างที่ดีของการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแบบอย่างที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาบันอื่นๆ ในการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างยั่งยืน.

ม.นเรศวร ร่วมกับ วช. ส่งมอบเสื้อเกราะกันกระสุน นวัตกรรมจากจากขยะพลาสติก

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว แก่กองทัพภาคที่ 3 โดยมี พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้รับมอบ พร้อมนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพิธีส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวด้วย ณ สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก

ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับและกล่าวนโยบายด้านการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวร มีนโยบายในการผลักดัน ส่งเสริม ให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิด Research Eco system ที่จะพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มุ่งส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ และการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างยั่งยืน สร้างงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่มีความหลากหลายตามศักยภาพของนักวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” ซึ่งจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้ทำวิจัย ผู้สนับสนุนทุนวิจัย และผู้ที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างชัดเจน

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและมีเป้าหมายชัดเจน รวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นผลสำเร็จของการสนับสนุนนักวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับทหารของประเทศและจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการนำเอาขยะจากท้องทะเลมารวมกับผ้าทอมือ อันเป็นสิ่งแทนใจของความรักและความผูกพันของคนในครอบครัวและชุมชนเป็นเกราะป้องกันทหารของประเทศ ผลผลิตและต้นแบบอันเกิดจากการวิจัยครั้งนี้จะก่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ต่อไป

พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในนามของกองทัพภาคที่ 3 ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ ม.นเรศวร ที่เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งถือว่าเป็นคุณประโยชน์ให้กับกำลังพลของกองทัพบกเป็นอย่างดีในการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ช่วยให้เกิดความปลอดภัย โดยผลผลิตดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการลดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนนี้จัดทำขึ้นตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเสื้อเกราะที่มีน้ำหนักเบา มีประสิทธิภาพในการป้องกันภัยได้ และมีราคาถูก สามารถเข้าถึงได้ง่าย และในอนาคตหวังว่าคณะนักวิจัยจะได้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ตอบสนองต่อความต้องการและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ม.นเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” มีความสอดคล้องกับแนวทางที่สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้ประเทศต่าง ๆ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2558 –2573 ในเป้าหมายที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากขยะพลาสติกยังตอบสนองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพอีกด้วย โดยคณะนักวิจัยมีแนวคิดในการนำเอาขยะเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้ชุมชน จากการกำจัดขยะมูลฝอยในปี 2562 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก ติดอันดับ 1 ใน 6 จังหวัดที่มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่มากที่สุด โดยจำนวนขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ในจังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณ 465.7 ตันต่อวัน โดยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับกองทัพ โดยมีทหารเป็นกำลังสำคัญในการรักษาอธิปไตยของชาติ

สำหรับนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก เป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” ที่ วช. สนับสนุนทุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ ดำเนินโครงการฯ ซึ่ง วช. กองทัพภาคที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะนักวิจัย มีความมุ่งมั่นในการผลักดันการดำเนินงานวิจัยนี้ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ซึ่งผลผลิตและต้นแบบอันเกิดจากการวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ การจัดการขยะพลาสติกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ทำการทดสอบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก โดยการใช้ปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ณ ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จังหวัดพิษณุโลก จากการทดสอบพบว่านวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการยิงจากอาวุธปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ในระยะการยิงที่ 5 เมตร 7 เมตร 10 เมตร และ 15 เมตร ได้เป็นอย่างดี และในอนาคตคณะนักวิจัยจะทำการพัฒนานวัตกรรมฯ ให้สามารถป้องกันอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ ปืนเอ็ม 16 หรือปืนอาก้า เพื่อความปลอดภัยของทหารผู้รักษาอธิปไตยของประเทศต่อไป

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน “Upcycle Army Vest” จากขยะพลาสติกเหลือใช้

นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน “Upcycle Army Vest” จากขยะพลาสติกเหลือใช้และขยะจากท้องทะเล ภายใต้โครงการวิจัย “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติสนับสนุนทุนวิจัยแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ และคณะผู้ร่วมวิจัยได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร นิรัช สุดสังข์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยนันท์ บุญพยัคฆ์ และดร.ศิริกาญจน์ ขันสัมฤทธิ์ ภาควิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.วรชาติ กิจเรณู คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำนักงานสีเขียว Green Office

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย ตันรัตนวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำนักงานสีเขียว Green Office โดยนายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ พร้อมด้วยบุคลากรกองอาคารสถานที่เข้าร่วมโครงการกันอย่างพร้อมเพรียง เนื่องจากกองอาคารสถานที่ เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการบริหารจัดการด้านกายภาพ และยังเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านที่ 5 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมในการประเมินสำนักงานสีเขียวในปีงบประมาณ 2567 ของกองอาคารสถานที่

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมไม้เทียมรักษ์โลกจากกากกาแฟและเปลือกไข่

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ และทีมผู้วิจัย ได้คิดค้นนวัตกรรมไม้เทียมรักษ์โลกจากกากกาแฟและเปลือกไข่ ที่มีคุณสมบัติ แข็งแรง ทนทาน ราคาถูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวคิด “Circular Economy” ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ”

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก

NU Going Green คัดแยกก่อนทิ้ง = ลดขยะ+เพิ่มพื้นที่สีเขียว

บุคลากรกองอาคารสถานที่นำรถโมบายเคลื่อนที่เร็ว ออกรับและจัดเก็บขวดพลาสติกตามจุดทิ้งขยะรีไซเคิลต่างๆ เช่น จุดคัดแยกขยะหอพักนิสิต จุดคัดแยกขยะหอพัก มน.นิเวศและจุดคัดแยกขยะสถานีรถไฟฟ้า เพื่อนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ทดแทนถุงเพาะชำต้นไม้ ดอกไม้ โดยตั้งเป้าไว้ 20,000 ใบและขอขอบคุณประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“ECO WOOD” วัสดุทดแทนธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้ไม้จริง ที่ช่วยลดปริมาณการตัดไม้ ลดปริมาณขยะพลาสติก”

วันที่ 20 เมษายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้ช่วยวิจัย ได้จัดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ในผลงาน “ECO WOOD” วัสดุทดแทนธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้ไม้จริง ที่ช่วยลดปริมาณการตัดไม้ ลดปริมาณขยะพลาสติก และลดพลังงานในการผลิต ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิด “Circular Economy” เป็นวัสดุที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ผสมกากกาแฟและเปลือกไข่ซึ่งเป็นการเอาวัถตุดิบใช้แล้ว หมุนเวียนเอากลับมาทำให้มีมูลค่า โดยจะใช้เทคโนโลยีการผสมด้วยเครื่องหลอมอัดรีดเกลียว หนอนคู่เพื่อเตรียมเป็นคอมพาวด์ จากนั้นใช้กระบวนขึ้นรูปด้วยเทคนิคการอัดเข้าแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin