ม.นเรศวร เดินหน้าโครงการ Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Smart City และ นวัตกรรมดิจิทัล

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารสัมมนา วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology เพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology ให้ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากแนวคิดของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็กระดับชุมชนและระดับ SMEs จะถูกบริหารจัดการในภาพรวมด้วยเทคโนโลยี SMART Microgrid ที่ชาญฉลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (Flexible Grid) และด้วยเทคโนโลยี Blockchain Network ที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อขายพลังงานกับผู้ผลิตหรือระหว่างกันเอง ณ เวลาที่เหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามแนวนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน โดยโครงการนำร่องสู่การพัฒนาธุรกิจจะขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัย เป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน  เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น  
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรม ย่อมต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรม การผลิตของประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการ ด้วยการสร้าง  Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เช่น startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

ที่มา:  วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี

นักวิจัย ม.นเรศวร “รับรางวัลผลงานวิจัย ปี 65” วิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้มาตรฐานส่งออก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน “ศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” เข้ารับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เผยสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน จากเดิม 15 วัน โดยการจัดการแบบครบวงจรจากต้นทาง สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดโลก เตรียมส่งออกจริง ขนส่งทางเรือเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การวิจัยและพัฒนามะม่วงให้ได้มาตรฐานส่งออก มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถขนส่งทางเรือได้ เป็นการบรรเทาปัญหาอย่างสอดรับกับสถานการณ์ และยังช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่การทำเกษตรกรรม และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลไม้ของไทยไปต่างประเทศ

ทีมวิจัย ได้ศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีของมะม่วง จนค้นพบว่า การคัดเลือกความสมบูรณ์ของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว ในระยะการสุกแก่ที่ 80% โดยใช้เทคนิค NIR (Near Infrared Spectroscopy) อย่างแม่นยำ ก่อนนำมาฉายรังสีชนิดก่อไอออน จะช่วยให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ผล และความแน่นของเนื้อที่ทนทานต่อการบอบช้ำ จึงเหมาะสมต่อการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการใช้สารละลายอะซอกซีสโตรบิน ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน เพื่อควบคุมการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว และการจุ่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิภายในผลผลิต ก่อนการคัดบรรจุและนำไปฉายรังสีชนิดก่อไอออน ทำให้ทราบว่า การฉายรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ที่ปริมาณ 400 Gy ที่ระยะสุกแก่ 80% มีความเหมาะสมต่อการฉายรังสีเพื่อการส่งออกมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานจะต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทาง

จากนั้นจึงได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถขนส่งทางเรือได้ที่มีต้นทุนต่ำได้ ผลผลิตจึงมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง มีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายาก และมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ล่าสุด ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะถูกขนส่งทางเรือ เป็นครั้งแรกจากประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลมะม่วง ที่คาดว่าราคาผลผลิตอาจตกต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้เป็นอย่างดี จากผลงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

วช. จับมือ ม.นเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ ต่อยอด SMEs เขาค้อ

วช. หนุนนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อสุขภาพ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เขาค้อ เพชรบูรณ์ 

วันที่ 10 มกราคม 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓)

โดย วช. , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีคุณประโยชน์ และรสชาติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ในท้องตลาด

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย“งานวิจัยและนวัตกรรม”จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วช.ได้ร่วมกับ สวทช. , สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่วช.มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป 

ด้าน ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า วช.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาคประชาคมวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่เขาค้อได้รับการยกระดับด้วยวิจัยและนวัตกรรม อันส่งผลพวงที่ดีต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่สาธารณชนในวงกว้าง

ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย และบริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋องให้มีคุณค่าทางสุขภาพมากกว่าเดิม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพ โดยเสริมพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เองเข้าไปเสริมกับโพรไบโอติกในลำไส้ ให้ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น ป้องกันจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในลำไส้ อาทิ มะเร็งลำไส้ อีกทั้งน้ำตาลในน้ำเสาวรส สามารถช่วยเรื่องการดูดซึมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงตรวจสอบ Commercial Product คาดว่าจะพร้อมออกจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ รวมกับ บจก.อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ โดยรับเอาผลิตผลทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ มาแปรรูปให้มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น อาทิ ไอศกรีมมัลเบอร์รี่ไขมันต่ำเสริมโพรไบโอติก ไอศกรีมแป้งข้าวหมากเสริมซินไบโอติกจากข้าวเหนียวลืมผัว ไอศกรีมเสาวรสไขมันต่ำเสริมซินไบโอติก ซึ่งเป็นการใช้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร”

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน การจัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร” โดยได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ฉัตรสง่า (รักษาการ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นวิทยากร

การจัดกิจกรรมดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกองการวิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ให้กับอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรที่สนับสนุนด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบุคลากรในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือตอนล่าง ผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนา กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฏหมาย

โดยจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมมหาราช ชั้น 2 อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม ม.นเรศวร

วช. หนุน ม.นเรศวร วิจัยผ่าทางตันส่งออกมะม่วงยุคโควิด ขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ดันยอด 100 ตัน/สัปดาห์

ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ประมาณ 1,800 ตัน แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก เพราะไม่มีเที่ยวบินขนส่ง

“โครงการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยจะระบายสินค้าในช่วงฤดูกาลผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ

ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “การวิิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ”

คณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วงและเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ แนวทางแรก คณะนักวิจัยได้ศึกษาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกมะม่วงทางเรือได้

ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 10 วัน วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก

แนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน

สำหรับแนวทางที่สองเป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศจะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน สมมติว่าต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินเป็น 3 ส่วน การขนส่งทางเรือด้วยห้องเย็นธรรมดามีต้นทุนแค่ 1 ส่วน ในขณะที่การขนส่งทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศจะเป็น 1.5 ส่วน เพราะฉะนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่ลูกค้าปลายทางยอมรับได้ และที่สำคัญสามารถส่งออกสินค้้าได้ในปริมาณมากๆ ด้วยวิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศ คาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่่า จากเดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 การขนส่งทางเครื่องบินจึงหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆ ได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการส่งออกของไทย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

วช. มอบรางวัลวิจัยแห่งชาติ ให้ ม.นเรศวร ที่คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ารำข้าว

นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัมต่อวัน

จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

เอ็นซี โคโคนัท จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเนื้อเยื่อ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ที่แรกของโลก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นบริษัทผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลก

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท NC COCONUT ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหลายอำเภอที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เช่น อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านโป่ง มีพื้นที่รวมในการเพาะปลูกกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกนับเป็น 10,000 ล้านบาท ต่อปี และในปัจจุบันความต้องการของเกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้นที่หันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำให้สายพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบมีการกลายพันธุ์ ถ้าเกษตรกรนำไปเพาะปลูกกว่าจะเห็นผลผลิตก็จะเสียเวลาในการรอคอยไป 2-3 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรได้ บริษัท NC COCONUT ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวน้ำหอมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของพันธุ์ของมะพร้าว จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จนได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตลูกดก จำนวนทะลายมาก และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบนี้

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวในงานว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้ เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำ และเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายมาก จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอฯ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำตัวอย่างพืช (Explant) ของต้นดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์และปลอดโรค ให้ผลดก เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ในงานนี้ บริษัท NC COCONUT ยังได้ประกาศความสำเร็จความร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลกอีกด้วย เพื่อให้คงไว้ซึ่งต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้และดั้งเดิมพันธุ์ก้นจีบ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

วช.หนุนนักวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดี และ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ

ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็น 1 ใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570

วันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีมโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570

กิจกรรม ในงานประกอบด้วย
📍 Workshop การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570
📍 กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของเครือข่าย สป.อว.
📍 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงมหาดไทย
📍 งานแถลงความสำเร็จของความร่วมมือการจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน พ.ศ. 2566 – 2570”
📍 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาจังหวัด” ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ มหาวิทยาลัยเครือข่าย
📍 การจัดนิทรรศการ โดย ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและผู้บริหารของกระทรวง อว. และกระทรวงมหาดไทย เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยนิทรรศการจะแสดงให้เห็นภาพการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ทั้งสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย กว่า 150 หน่วยงาน ที่นำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงให้เห็นภาพความเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ของการนำงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เก็บรักษามะม่วงได้นานกว่า 1 เดือน! สกสว. ช่วยชาวสวนส่งมะม่วงทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียมที่สำคัญและทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทุกปี เนื่องจากมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการจำนวนน้อย แต่มีค่าระวางเครื่องบินราคาแพง โดยขณะนี้ผลผลิตมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ส่วนราคาขายภายในประเทศต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะวิจัยพบว่า เทคนิคการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

mango1310463

คณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่ายและยังคงรสชาติได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) โดยมีต่นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท/กิโลกรัม

ผศ. ดร.พีระศักดิ์จึงเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. โดยในเดือนเมษายน 2563 มีการส่งออกไปทางเรือแล้วจำนวน 20 ตัน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ขณะที่มะม่วงมหาชนกจะขนส่งถึงท่าเรือโยโกฮามาในวันที่ 16-17 เมษายน 2563

“การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอยู่รอด หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อนักวิจัยได้ที่ 081-9713510 หรืออีเมล peerasakc@gmail.com

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin