Archives June 2023

ร่วมให้ความรู้การดำเนินคดีอาญา และการเสนอคดีของผู้เสียหายในคดีอาญา ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

วันที่ 3 มิถุนายน 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สภาทนายความภาค 6 จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “การดำเนินคดีอาญา และการเสนอคดีของผู้เสียหายในคดีอาญา ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” เพื่อให้ความรู้กับทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตสภาทนายความภาค 6 และนิสิตคณะนิติศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 250 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์หริรักษ์ โล่ห์พัฒนานนท์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับคณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมเอกาทศรถ 301 อาคารเอกาทศรถ และถ่ายทอดสดทางเพจ Facebook คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยมีคณะวิทยากรผู้บรรยาย ประกอบด้วย
1. นายพัลลภ เลิศชนะเรืองฤทธิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดเพชรบูรณ์
2. นายอรรณพ ศักดิ์ศิริญดากุล ผู้พิพากษาและเลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค 6
3. นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 6
4. นายคมกฤษ มณีชัย กรรมการสภาทนายความภาค 6

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์ ดร. กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกิจการนิสิต และผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านการจัดการการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน C2F จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการ หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ

โดยได้รับเกียรติจาก นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางปริษา ปานพรหม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก นางสาวนิภาวรรณ กาญจนพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยทีมบริหาร คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม ระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและสนับสนุนด้านการวิจัยและวิชาการ การผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม ซึ่งมีขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย

1. ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดความร่วมมืองานวิจัยและวิชาการ มุ่งพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม

2. ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ด้านการวิจัยและด้านวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และด้านการส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่

พร้อมกันนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับเมืองเพื่อการรับมือความท้าทายใหม่” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยาย 4 ท่าน จาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ Kyushu University, Japan / Kainan University, Taiwan / จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ณ ห้องประชุมเทาแสด ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน

นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าร่วมเปิดเวที “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป.ลาว”

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา เข้าร่วมเปิดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลผลการศึกษา และหารือความร่วมมือกับภาคประชาชนสังคมน่าน ในการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษข้ามแดน ซึ่งโครงการดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนโครงการ และจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

ข้อมูลอ้างอิง : สวรส. นำทีมผู้เชี่ยวชาญ เปิดเวทีหาความร่วมมือเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษข้ามแดน จ.น่าน – THECITIZEN.PLUS

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศว

จากขวดที่ถูกทอดทิ้งและดูไร้ค่า กลับมาเป็นภาชนะปลูกที่คงทนและประหยัด “NU Going Green”

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 บุคลากรกองอาคารสถานที่เริ่มดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยตั้งเป้าหมายที่จะปลูกถั่วบราซิลและไม้ประดับอื่นๆ ให้เต็มพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว จุดพักผ่อนของประชาคมซึ่งภาชนะในการปักชำ ขยายพันธุ์ถั่วบราซิลได้มาจากการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ทดแทนถุงเพาะชำต้นไม้และยังมีโครงการที่จะนำน้ำที่ได้จากการบำบัด มาใช้ในการรดน้ำดูแล ถั่วบราซิล และไม้ประดับอื่นๆในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

ถั่วบราซิล ถั่วปินโต/ถั่วเปรู/ถั่วลิสงเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Arachis pintoi Krapov. & W.C.Gregory
วงศ์: Leguminosae – Papilionoideae
ประเภท:ไม้ล้มลุกอายุหลายปี
ทรงพุ่ม:ลำต้นทอดเลื้อยคลุมดิน รากออกตามข้อ
ใบ: ประกอบแบบขนนกออกตรงข้าม ใบย่อย 4 ใบ รูปไข่ กว้าง 1 – 3 เซนติเมตร ยาว 1 – 7 เซนติเมตร
ดอก: รูปถั่ว สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2 – 4 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี
อัตราการเจริญเติบโต: เร็ว
ดิน: ดินร่วนและดินร่วนปนทราย
ขยายพันธุ์: ปักชำกิ่ง

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin