มน. นำร่อง บางระกำ และเนินมะปราง วิจัยแก้ไขปัญหายากจน ต่อยอดอาชีพของชาวบ้านแบบยั่งยืน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(บ้านสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัวโครงการ “การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ระยะที่ 2” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนในพื้นที่ 2 ตำบลของ ได้แก่ ต.วังอิทก และ ต.ชุมแสงสงคราม ของ อ.บางระกำ และ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง  โดยเฉพาะ อ.บางระกำ ได้ศึกษา จำนวน 2,000 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพในการประกอบอาชีพตรงตามที่ผู้จ้างงานต้องการ

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ภายใต้แผนงาน ริเริ่มสำคัญ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนที่ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งมีระบบและกลไกในการส่งต่อคนจนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนค้นหา และพัฒนานวัตกรรม การแก้ไขปัญหาความยากจนต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนจนในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวว่า สำหรับโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของภาคเหนือตอนล่าง ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยและรับผิดชอบ จังหวัดพิษณุโลก ในภาคเหนือตอนล่าง โดยได้เริ่มในระยะนี้เป็นระยะที่ 2  ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ทาง บพท. ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษาได้ตระหนักถึงความยากจนของประชาชน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการได้เข้ามาโดยนำเอากลไกต่างๆเข้ามาพัฒนาคนจนในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วประเทศมี 10 จังหวัดนำร่อง จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง เพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับการจัดทำการวิจัย ซึ่งเราทำสำเร็จแล้วในเฟสที่ 1 โดยเลือก อ.บางระกำ และ อ.เนินมะปราง เป็น อำเภอนำร่องในการพัฒนาอาชีพของประชาชนที่มีความยากจนขึ้นมา ซึ่งหลังจากการได้ทำการสำรวจร่วมกับทางจังหวัดแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าความยากจนของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ดีขึ้น ที่เราปูพรมพื้นที่ อ.บางระกำ ประชาชน คนจนจำนวน 2000 คน ให้ผ่านความยากจนให้ได้ภายในปีนี้

ในระยะที่ 2 งานของเราจึงมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องของการสำรวจใหม่อีกรอบหนึ่งสำหรับคนจนใน อ.บางระกำ ว่ามีการตกสำรวจหรือไม่ เรื่องที่ 2 คือการสร้างกลไก “โมเดลสร้างอาชีพ” ขึ้นมาทั้งหมด 16 อาชีพ อาทิ การพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าว  การสร้างอาชีพต่างๆ อาทิ วิถีการทำปลาร้า ,ปลาส้ม, การแปรรูปเกล็ดปลา ซึ่งล้วนแล้วต่อยอดจากอาชีพดั่งเดิม ของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น  โดยในการที่จะนำพัฒนาคนจนของเราขึ้นมา รวมทั้งพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อีก 5 แห่ง เพื่อที่จะให้คนจนเข้าไปอยู่ในวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้เรายังทำแพลตฟอร์มคนจนทั้ง 2,000 คน เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของเรารวมทั้ง ถ้าใครไม่ได้รับการพัฒนาในอาชีพ แต่มีความสามารถในด้านอื่นๆ เราก็จะนำเข้าไปอยู่แพลตฟอร์ม โดยมีตัวแทนของหน่วยงานเอกชน เพื่อมาเลือกหาแรงงานที่จะเข้าไปร่วมงานเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือทางเราจะดูและในเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ร่วมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับปัญหาคนจนให้หมดไป

ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนจนในอำเภอบางระกำให้ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีช่องทางในการหางานทำที่สามารถเข้าถึงผู้จ้างงานได้ง่าย หรือให้ผู้จ้างงานเข้าถึงคนจนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการได้

ที่มา: phitsanulokhotnews