มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยลูกประคบสมุนไพร สำหรับเซลลูไลท์สำเร็จ

รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์  หัวหน้าโครงการ คณะวิจัยจากสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการ พัฒนาสูตรตำรับลูกประคบสำหรับลดเซลลูไลท์ โดยคัดสรรสมุนไพรที่มีศักยภาพในการลดเซลลูไลท์ เช่น สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนโลหิต มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตไขมัน หรือกระตุ้นการสลายไขมัน และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ มาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ รวมถึงพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ และประเมินประสิทธิภาพในการใช้ลดเซลลูไลท์ของลูกประคบที่พัฒนาขึ้นในอาสาสมัครเชิงคลินิกเพศหญิงจำนวน 21 คน
ผลจากการศึกษาพบว่าลูกประกบที่พัฒนาขึ้นช่วยลดความรุนแรงของเซลลูไลท์ และมีความปลอดภัยสูง โดยได้เปรียบเทียบระหว่างลูกประคบที่พัฒนาจากงานวิจัยที่ขาด้านหนึ่ง กับลูกประคบหลอกที่ไม่มีตัวยาสมุนไพรที่ต้นขาของอาสาสมัครที่ขาอีกด้านหนึ่ง โดยใช้เวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 2 เดือน ซึ่งได้มีการประเมินประสิทธิภาพใน 3 ด้าน คือ วัดเส้นรอบวงต้นขา วัดความหนาแน่นของชั้นไขมัน และวัดระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าต้นขาที่ใช้ลูกประคบสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นมีเส้นรอบวงความหนาของชั้นไขมัน และระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเทียบกับต้นขาอีกข้างที่ได้รับลูกประคบหลอก ในขณะที่ผลการศึกษาประเมินความปลอดภัย พบว่าลูกประคบจากงานวิจัยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองใดๆ ที่เป็นอันตรายต่ออาสาสมัคร จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับลูกประคบดั้งเดิมจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งมักใช้ในการลดอาการปวดเมื่อย โดยคณะวิจัยได้พัฒนาสูตรใหม่จากการศึกษารายงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับสมุนไพรที่เกี่ยวข้อง และนำมาสมุนไพรอีกส่วนเข้ามาเพิ่มเติม โดยผลิตภัณฑ์ลูกประคบนี้จะนำไปใช้ในสปาเป็นหลัก แต่หากใครสนใจซื้อไปใช้เองที่บ้านก็ได้ และจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ผลัดกันนวดประคบด้วย
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้รับทุนให้ทำวิจัยต่อยอดจาก คปก. และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เพื่อทดสอบเชิงลึกในการหากลไกการยับยั้งการสร้างไขมันหรือกระตุ้นการสลายไขมันจากองค์ประกอบของลูกประคบ และพัฒนาตำรับสูตรเจลลดเซลลูไลท์ที่มีสารสกัดจากลูกประคบ รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพตำรับที่พัฒนาได้ในอาสาสมัครด้วย ด้าน น.ส.งามรยุ งามดอกไม้ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ลูกประคบดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยสมุนไพรหลักที่เป็นสมุนไพรไทยรสร้อน เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการสลายไขมัน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่มี ซึ่งมีคาเฟอีนที่เป็นตัวออกฤทธิ์ สลายไขมันอีกด้วย

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยโดรนลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  พร้อมทีม ได้สาธิตเกี่ยวกับเครื่องมือลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (โดรนทางการเกษตร) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหลักสูตรเกษตรแม่นยำ รวมถึงการสาธิตการใช้โดรนเพื่อส่งเอกสารระหว่างอาคาร ซึ่งแสดงถึงนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้  และเตรียมเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน “หลักสูตรแม่นยำ” ในปี การศึกษา2563
ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้ร่วมกับทีมวิจัย ได้วิจัยการนำโดรนมาใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และสามารถลดค่าจ้างแรงงานคนที่พบว่า การจ้างตกวัน ละ 500-600 บาทต่อวัน  โดยปัจจุบันการนำโดรนมาฉีดพ่นยา เพียงไร่ละ 60 บาทเท่านั้น สามารถฉีดพ่นได้ถึง 100 ไร่ต่อวัน
นอกจากนี้ยังได้ทำวิจัย ด้านของการเพิ่มความหวานของอ้อยก่อนที่จะเข้าโรงงานอีก ทำงานวิจัยที่ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการที่จะเพิ่มความหวาน ccs ของอ้อย ถึง 3-4 ccs  ซึ่งเกษตรกรจะได้เปรียบคือ ทุก ccs ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้ ccs ละ  50 บาท
ทั้งนี้ การใช้โดรนทางการเกษตร การฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนพืช ตลอดจนการควบคุมศัตรูพืชด้วยโดรนทางการเกษตร ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมละไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดรนทางการเกษตรสามารถทำงานได้และทำให้ช่วยประหยัดได้หลายอย่าง เช่น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดน้ำ หลังจากที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เครื่องบินเล็กในการฉีดพ่นสารแทนคนแล้ว ก็มีจุดประสงค์อยากให้คนอื่นๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ด้วย หลังจากนั้นก็นำเครื่องไปสาธิตทำแปลงทดลองให้เพื่อนๆ ชาวไร่และหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานน้ำอ้อย เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร ร่วมประกาศสงครามขยะ  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมพิธีเปิดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ บริเวณโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าจากนโยบาย Zero Waste ของอธิการบดี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ และเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนดจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่เป็นมลพิษต่อพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในดิน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

การจัดโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์”ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเดินหน้าเปิดโครงการ เพื่อมุ่งหวังให้บุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (กิ่งไม้ ใบไม้) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำแนวคิดรวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่อยอดไปยังครัวเรือนของตนเองได้ ซึ่งตรงกับนโยบาย Zero Waste ที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ปราศจากขยะ   

ภายหลังจากการจัดโครงการ “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์” มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมประกาศสงครามขยะ ด้วยการเปิดโครงการ  “คัดแยกขยะ”คัดแยกขยะ ก่อนทิ้ง ทิ้งให้ถูกที่ ถูกถังณ โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร  ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่าจากนโยบายที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ กองอาคารสถานที่มีความมุ่งหวังอยากให้เกิดการคัดแยกขยะ เนื่องจากปัจจุบันขยะของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำขยะนั้นไปรีไซเคิลหรือจำหน่ายได้ โดยจะมีถังแยกขยะเกิดขึ้นตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นิสิต และประชาคมร่วมกันคัดแยกขยะ ก่อนการนำขยะไปรีไซเคิล  ส่วนขยะที่เป็นขยะอินทรีย์หรือขยะที่เป็นเศษอาหาร ก็จะแยกทำเป็นปุ๋ยหมัก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจะปลอดขยะ ตามนโยบาย Zero Waste คงเกิดขึ้นได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนั้นยังเป็นการประกาศสงครามขยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามแนวทางของจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย 

“ม.นเรศวร-Change ” ร่วมปกป้องนักวิจัย ปมยกเลิกใช้สารเคมีพาราควอต

ม.นเรศวร พร้อมพูดคุยกับสมาพันธ์เกษตร ปมร้าว ขอปลดนักวิจัย กรณีงานศึกษาผลกระทบสารเคมีพาราควอต -คลอร์ไพริฟอส ที่มีความเห็นไม่ตรงกับสมาพันธ์เกษตร จนยื่น 3 หมื่นชื่อให้ทบทวนข้อเสนอยกเลิกใช้ภายในมี.ค.นี้

วันนี้ (28 ม.ค. 2561) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ มน. กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้นำรายชื่อจำนวน 30,000 รายชื่อ ยื่นต่อผู้แทน รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 เพื่อคัดค้านข้อเสนอให้เลิกใช้สารพาราควอต และและคลอร์ไพริฟอสและมีข้อเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวรลาออกนั้น

ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเชิญสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยแห่งชาติ และทุกๆภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ให้ทุนการวิจัย ผู้วิจัย ทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านการเกษตรและสุขภาพ มาร่วมกันเสวนาวิชาการ เกี่ยวกับผลงานวิจัยที่ รศ.ดร.พวงรัตน์ ได้ศึกษาวิจัยมา ให้สมาพันธ์ ได้เข้าใจวัตถุประสงค์เจตนาที่ดีของนักวิชาการ ที่ต้องการ มุ่งเน้นช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตของ ประชาชนและเกษตรกร ไม่ได้มีเจตนาทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด

และหากผลกระทบในเรื่องใด มหาวิทยาลัยนเรศวรก็จะเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งคาดว่า หากได้รับการตอบรับ จากทางสมาพันธ์เกษตรฯ ก็จะสามารถหารือ พูดคุยทำความเข้าใจได้ทันที 

รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นเรศวรยืนยันว่า บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ มีหน้าที่ทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ชีวิตของประชาชนปลอดภัยมากที่สุด โดยไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น เป็นเรื่องของวิชาการโดยเฉพาะแต่หากเกิดความเข้าใจผิดหรือเกี่ยว ข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเป็นสื่อกลางประ สานทำความเข้าใจ

ส่วนกรณีที่สมาพันธ์เกษตรฯเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ แสดงความรับผิดชอบต่อ ผลงานวิจัยดังกล่าว ต้องขอดูข้อมูลทางวิชาการจากทางสมาพันธ์เกษตรฯ และอาจารย์ผู้ที่ทำวิจัยก่อน เพราะเจตนารมณ์ของงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ก่อนหน้านี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือThai-PAN ได้เผยแพร่เรื่องความปลอดภัยสารเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ ทำให้กลุ่มสมาพันธ์เกษตรฯ กังวลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อพืชผัก และนำมาสู่การยื่นรายชื่อเพื่อให้ยกเลิกข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอต ไกลโพเซตและคอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร ภายในเดือน มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ เครือข่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 9 องค์กร ยังร่วมรณรงค์ผ่าน Change.org ภายใต้หัวข้อร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ – “เสรีภาพทางวิชาการ” ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม 

ที่มา: thaipbs

ทช.ร่วม ม.นเรศวร เผยแพร่ผลศึกษาโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

วันที่ 22 ธันวาคม 2558 กรม ทช. โดย สำนักงานบริหาร ทช. ที่ 6 (ภูเก็ต) และศูนย์สารสนเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดประชุมวิชาการเผยแพร่ผลการศึกษาตามโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่อุทยานฯสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยผลการศึกษาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์บางจุดและการเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากสึนามิ แนวทางการแก้ไขคือเน้นการเติมทรายในพื้นที่ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ผู้เข้าร่วมงาน 150 คน

ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ม.นเรศวร ถ่ายทอดความรู้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 SGtech ยินดีต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากกองวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เข้าเยี่ยมชมระบบไมโครกริดภายใน SGtech และรับฟังการบรรยายด้านไมโครกริด

• Microgrid Service Solution with Zero Net Energy concept.

• P2P Energy Trading Platform with Blockchain Technology

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin