ม.นเรศวร ร่วมประกาศสงครามขยะ  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมพิธีเปิดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ บริเวณโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าจากนโยบาย Zero Waste ของอธิการบดี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ และเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนดจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่เป็นมลพิษต่อพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในดิน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

การจัดโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์”ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเดินหน้าเปิดโครงการ เพื่อมุ่งหวังให้บุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (กิ่งไม้ ใบไม้) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำแนวคิดรวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่อยอดไปยังครัวเรือนของตนเองได้ ซึ่งตรงกับนโยบาย Zero Waste ที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ปราศจากขยะ   

ภายหลังจากการจัดโครงการ “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์” มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมประกาศสงครามขยะ ด้วยการเปิดโครงการ  “คัดแยกขยะ”คัดแยกขยะ ก่อนทิ้ง ทิ้งให้ถูกที่ ถูกถังณ โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร  ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่าจากนโยบายที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ กองอาคารสถานที่มีความมุ่งหวังอยากให้เกิดการคัดแยกขยะ เนื่องจากปัจจุบันขยะของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำขยะนั้นไปรีไซเคิลหรือจำหน่ายได้ โดยจะมีถังแยกขยะเกิดขึ้นตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นิสิต และประชาคมร่วมกันคัดแยกขยะ ก่อนการนำขยะไปรีไซเคิล  ส่วนขยะที่เป็นขยะอินทรีย์หรือขยะที่เป็นเศษอาหาร ก็จะแยกทำเป็นปุ๋ยหมัก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจะปลอดขยะ ตามนโยบาย Zero Waste คงเกิดขึ้นได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนั้นยังเป็นการประกาศสงครามขยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามแนวทางของจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย