ม.นเรศวร ต่อยอดสร้างเตาอบชีวมวล เพื่อนำมาผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกและนำไปบำรุงรักษาไม้ดอก

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการใช้งานเตาอบชีวมวล เพื่อนำถ่านที่ได้จากการอบมาผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกและนำไปบำรุงรักษาไม้ดอก ไม้ประดับ ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป ภายใต้โครงการตามยุทธศาสตร์ที่ 5 (SO 12 SDGs) ซึ่งกระบวนการผลิตถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) คือวัสดุที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากชีวมวล หรือสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้จากธรรมชาติ หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ นำมาผ่านกระบวนการเผาไหม้ที่มีการควบคุม อุณหภูมิและอากาศหรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุดซึ่งกระบวนการเผาไหม้นี้เรียกว่า “การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการไพโรไลซิส” ถ่านชีวภาพมีลักษณะเป็นรูโพรง เมื่อนำถ่านมาผสมกับปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก
รูโพรงนี้เมื่ออยู่ในดินจะช่วยเก็บธาตุอาหารจากปุ๋ย และเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชได้นาน อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าทำให้ลดระยะเวลาในการหมักและลดการปลดปล่อยไนโตรเจน ทำให้ปุ๋ยหมักที่ผสมถ่านชีวภาพจะมีปริมาณไนโตรเจนมากกว่า ช่วยให้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้ และยังได้น้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมีอีกด้วย

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร