วิกฤตฝุ่นตอนนี้เป็นอย่างไร? และ ความเป็นไปได้ในการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงทิศทางที่จะเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

เอาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ข้อมูลที่เรานำมาจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ เครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอยซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ปี 2022 มีวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ WHO แนะนำ ประมาณ 249 วัน ถือว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่จะรับสารก่อมะเร็งและโรคหัวใจเกินค่าที่จะยอมรับได้ ถ้ารวมทุกเขตของ กทม. จะพบว่า มีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานของ WHO อยู่ 1,131 วัน 

ข้อมูลจาก World Bank บอกไว้ว่า PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4,486 คน ต่อปี เฉพาะแค่ใน กทม. และนับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของ กทม. อยู่ที่ประมาณ 4.51 แสนล้านบาทต่อปี

งานวิจัยของเราในระบบ ววน. มีงานวิจัยอยู่ประมาณ 200 กว่าโครงการที่ทำเรื่องฝุ่น ใช้งบประมาณไปเกือบ 600 ล้านบาท เรามีหลายนวัตกรรมที่จำแนกและติดตามฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sensor ดาวเทียม และการเก็บตัวอย่าง เครื่องกรองฝุ่น หน้ากาก แผ่นกรอง แอปพลิเคชัน การลดการเผา

ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 อัตตาหิอัตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จริง ๆ แล้ว กทม. มีความพร้อมทางโครงสร้างในการทำให้เราช่วยตัวเองได้อยู่ เพราะถ้าเราไม่มีโครงสร้างอย่างตัว 70 สถานี ที่ช่วยให้ประชาชนปกป้องตัวเองได้ ยกตัวอย่างเครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอย ที่จะมีการแจ้งฐานเข้าข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คล้ายกับแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ดูว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา แปลว่า ถ้าเราจะอัตตาหิอัตโนนาโถ ก่อนที่เราจะออกไปไหน เราต้องดูค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ระดับไหน ถ้าขึ้นสีเขียว สีฟ้า เราก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  แต่ถ้าเริ่มเป็นสีส้ม สีแดง แปลว่าเราต้องทำมาตรการบางอย่าง ต้องใส่หน้ากาก เปลี่ยนกำหนดการ หรือยังไม่ออกจากบ้าน มีหลากหลายมาตรการในการอัตตาหิอัตโนนาโถ  

ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากเครื่องของดัสท์บอย 150,000 คนต่อปี จำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก โดยในจำนวนนี้ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี ดังนั้นจากงานวิจัยทำให้เห็นว่า เราขาดระบบการกระตุ้นให้คน กทม. เข้าถึงการใช้ข้อมูล ทั้งจาก Sensor และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ในการปกป้องตัวเอง 

อย่างไรก็ดี การปกป้องตัวเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายในการจัดแจงเปลี่ยนตารางต่าง ๆ ซึ่ง ผศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ ทำข้อมูลมาว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราอาจจะแบกไว้โดนไม่รู้ตัว 

ฉากทัศน์นี้ จริง ๆ ค่อนข้างดี เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อม เช่น สถานีวัดคุณภาพอากาศที่เรามีกว่า 70 สถานี อีกทั้งยังมีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นที่ต้นตอ เรายังอยู่กับฝุ่นและไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันลดความเสียหายของชีวิตได้ทันทีที่เราใส่หน้ากาก พยายามหลีกเลี่ยงฝุ่น การจะทำให้เป็นระดับนั้นได้ ต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งค่อนข้างยาก จริง ๆ สหรัฐอเมริกา และยุโรปเองก็มีการใช้ฉากทัศน์นี้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นฉากทัศน์เสริม ไม่ใช่ฉากทัศน์หลัก

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า

ฉากทัศน์นี้หลาย ๆ คนรออยู่ เพราะได้ข่าวว่า ฉากทัศน์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ กทม. และประเทศไทย 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 บอกว่า มีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากการขนส่งหรือการจราจร 59% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านให้เป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และถ้าเราทำได้ตามเป้าใน 14 ปี จะสามารถลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ ดังนั้นฉากทัศน์นี้ไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะจากการคำนวณดูแล้ว ถ้าปรับตามเป้าใน 14 ปี จะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงได้ 52.38% คือลดจาก 1,131 วัน เหลือ  538 วัน และจะลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน กทม. ได้ประมาณ 2,350 คนต่อปี ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจใน กทม. ได้ประมาณ 2.36 แสนล้านบาทต่อปี 

เรามีความพร้อมแค่ไหน เราสามารถซื้อรถเข้ามาได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเองก็มีการทำงานวิจัยต้นแบบรถในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถไฟฟ้ารางเบา รถโดยสารระหว่างเมือง รถจักรยานไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรม

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่า รถไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยงานวิจัยนวัตกรรมของไทยมันใช้ได้ดีจริง ๆ และจะใช้ตัวนี้เพื่อความยั่งยืนต่อไป เรายังต้องการงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะภาระจะตกไปอยู่กับเจ้าของรถที่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเยอะ เอกชนก็ต้องมีการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน

ฉากทัศน์นี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเป็นฉากทัศน์ที่ดีตรงผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งยังต้องมีการปรับและเตรียมการเยอะ

ฉากทัศน์ที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาด (ขึ้น) 

เป็นฉากทัศน์ที่ต่างประเทศมีกฎหมายมา 40-50 ปี ใช้เป็นฉากทัศน์แรก คือการจัดการที่ปลายปล่อง หรือแหล่งกำเนิด ทำให้อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น เหมือนที่ กทม. มีการไปสำรวจปลายปล่องที่ปลดปล่อยมลพิษด้านฝุ่น 

ฉากทัศน์นี้ทาง Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฉากทัศน์แรก เพราะจัดการง่ายสุด โรงงานอยู่นิ่ง ๆ ปลายปล่องตรวจวัดได้ สามารถจัดการได้ โดยข้อมูล กทม. บอกว่า 20% ของ PM 2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ความจริงเทคโนโลยีของการปลดปล่อยมลพิษจากปลายปล่องของต่างประเทศดีกว่าที่เราใช้มาก ๆ ลดได้ประมาณ 90% แต่กฎหมายบ้านเรา การปลดปล่อยปลายปล่อง ปล่อยเท่า ๆ กันหมดเลย ไม่ว่าโรงงานนั้นจะอยู่ที่ไหน ขอแค่เป็นโรงงานประเภทนี้ ลักษณะแบบนี้ปลดปล่อยเท่ากัน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีมลพิษอากาศหนักแค่ไหน

ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศหนักอยู่แล้วใน กทม. หรือบางเขตมีการสร้างโรงงานใหม่ หรือโรงงานที่มีอยู่แล้ว ปลดปล่อยได้เท่ากับที่ที่มีอากาศสะอาดเลย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล กฎหมายของต่างประเทศบอกว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ มี PM 2.5 มีมลพิษอากาศอื่น ๆ เป็นค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม ดังนั้นเขาต้องติดตั้งระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานอื่นที่มีอยู่ เพื่อให้มลพิษที่ปลดปล่อยไม่เกิน กฎหมายนี้บ้านเราไม่มี เราสามารถปรับโรงงานในบ้านเราให้ลดการปลดปล่อยมลพิษได้ 75% ผมว่าสบายมาก ผมเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ

ถ้าเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปได้ 16.53% หรือประมาณ 944 วัน ก็ยังไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่แก้ไขปัญหาได้อยู่ดี แต่จะลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 733 คนต่อปี และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้ประมาณ 0.74 แสนล้านบาทต่อปี แต่น่าเสียดายว่า พอเราไม่มีกฎหมายที่ทำให้การผลิตสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยเทคโนโลยีการทำให้การบำบัดปลายปล่องดีขึ้นแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีความต้องการ ขณะที่ต่างประเทศพัฒนาดีขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 90%  ซึ่งดีกว่าที่เราใช้อยู่มาก ๆ 

ดังนั้นในฉากทัศน์นี้เราต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาก่อน และเราต้องพัฒนาเดินหน้าต่อ ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่จัดการได้ง่าย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะเป็นผู้จ่าย ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องกำกับอย่างเข้มงวด อย่างที่ กทม. ทำ ต้องมีการทำ PRTR  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การใส่ใจการผลิตที่สะอาดโดยภาคประชาชน  

ฉากทัศน์ที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค

เป็นฉากทัศน์ที่ใช้ได้กับฉากทัศน์ 2 และ 3 ด้วย แต่อันนี้เอามาจับกับเรื่องชีวมวล โดยงานวิจัยของกรุงเทพฯ พบว่า PM 2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลมีประมาณ 20% ซึ่งจะเห็นว่าเรามีนวัตกรรมหลายทางเลือกในการผลิตให้สะอาดขึ้นจากการเผาชีวมวล ทาง สกสว. เคยจัดงานเสวนาปีที่แล้ว และได้คุยกับโรงน้ำตาลมิตรผลใช้จริงที่ จ.สิงห์บุรี เก็บอ้อยสด และไม่มีการเผาอ้อย เอาใบอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการรับซื้อในอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตแบบสะอาด ที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ PM 2.5 ได้ ถือเป็น 1 ในทางเลือก หรือถ้าจะต้องเผาจริง ๆ ผู้เผาสามารถจองผ่านแอปพลิเคชันอย่างไฟดี (FireD) ได้ ที่เชียงใหม่ใช้แล้วลดการเกิด Hot Spot ได้ประมาณ 60% ทำให้ค่ามลพิษไม่เกินค่าที่ยอมรับได้

แต่ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแบบนี้ แต่การใช้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำให้กำไรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้ผลิตไม่ใช้ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 80% ปัญหาก็กลับมาว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช่ ก็เพราะเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรมากระตุ้น

รู้ไหมว่า น้ำตาลที่เราซื้อ เสื้อผ้าที่เราใส่ หรือขนม 1 ถุงที่เรากินมันปลดปล่อย PM 2.5 เท่าไหร่ พอเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ถูกได้ ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงก๊าซเลือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอันที่เราซื้อ มีการปล่อยก๊าซเลือนกระจกเท่าไหร่ แนวคิดเดียวกัน ถ้าเรามาใช้กับ PM 2.5 มลพิษอากาศมันเทียบได้เลยว่าแต่ละอย่างปลดปล่อยมลพิษทางอากาศไปเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราตอนจัดการเรื่องฝุ่นอยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูลเราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราจะซื้อตู้เย็นสักตู้ จะเห็นฉลากเบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ตอนนี้มีใครเจอเบอร์ 3 กับเบอร์ 4 บ้าง ไม่มีแล้ว เลือกเบอร์ 5 กันหมด คนซื้อเลือกซื้อเบอร์ 5 เพราะมันประหยัดในหลาย ๆ เรื่อง ดีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทำให้เกิดทิศทางที่สะอาดขึ้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่า อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ตอนเงินอยู่ในมือเรา เราไม่สามารถขอให้คนอื่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องแก้เอง แต่ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลที่จะตัดสินใจ เรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อม ฉลากในการลดการปลดปล่อยมลพิษจะช่วยเรามาก ๆ 

ถ้าเราเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ในกรุงเทพฯ จะช่วยลดการปลดปล่อยได้ประมาณ 16%  ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 746 คน และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้อีกประมาณ 0.75 แสนล้านบาท แต่ถ้าใช้ในต่างจังหวัด ช่วยได้มาก

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่มีทางที่ทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วจะจบ หลายทางเลือกอาจจะต้องประกอบร่วมกัน