ม.นเรศวร ร่วมประชุมทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะที่เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) จังหวัดพิษณุโลก จัดโดย สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยมอบหมายให้ ผศ.ดร.จรูญ สารินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี และนายธนวุฒิ พูลเขตนคร งานพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมนเรศวร โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

ภาพกิจกรรมโดย: สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก

ม.นเรศวร จับมือเครือข่ายเร่งบ่มเพาะพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สากล

วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมลักษณ์ วรรณฤมล กีเยลาโรว่า รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ปีนี้ รวมจำนวน 7 หน่วยงาน หวังเร่งบ่มเพาะ ยกระดับ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 ทางกองทุนฯ ได้จัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) เพิ่มเติมเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมจำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่
1. คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKBS)
2. ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี(UdonUBI)
3. ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (NRRU UBI)
4. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม (Eng NPU)
5. สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (RUTS IMTT)
6. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(RDI SRU)
7. สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(FIRIn PSU)

เพื่อเพิ่มกำลังในการคัดสรร บ่มเพาะ เร่งยกระดับพัฒนาผู้ประกอบการไทย พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุน นำไปต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่อไป จากเดิมได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไปแล้ว 52 หน่วยงาน และได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับกองทุนฯ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกพื้นที่ได้เข้าถึงแหล่งทุนและสามารถใช้บริการเครือข่ายฯ ได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไป

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านพลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์

มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและบริษัทพีเอสเอส อมาเรนโค จำกัด เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีของโรงเรือนเพาะปลูกพลังงานแสงอาทิตย์ และด้านการจัดการพลังงานและพลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสามารถนำผลการวิจัยและพัฒนามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมของบริษัทและเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ในพิธีลงนาม ฯ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คุณซาเมียร์ ยามดักนี กรรมการผู้จัดการบริษัทพีเอสเอส อมาเรนโค จำกัด และคณะผู้แทน จากบริษัทพีเอสเอส อมาเรนโค จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ ฯ ในครั้งนี้ โดยพิธีลงนามดังกล่าว ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมมหามนตรี ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวร ในอังคารที่ 8 สิงหาคม 2566

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จับมือภาคเอกชนส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนานิสิตในการเพิ่มทักษะความเป็นผู้ประกอบการ

วันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. คณะวิทยากรจาก Nexter Incubator บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กองกิจการนิสิตและอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยรองอธิการ ดร.จรัสดาว คงเมือง

รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม และคณะผู้บริหารจากอุทยานวิทยาศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมลักษณ์ วรรณฤมล กีเยลาโรว่า รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และดร.ปัญญวัณ ลำเพาพงศ์ รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้าพบอธิการบดี เพื่อหารือความร่วมมือการพัฒนานิสิตในการเพิ่มทักษะความเป็นผู้ประกอบการ นอกจากนั้นยังหารือโอกาสในการจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งภาควิชาการ การวิจัย ตลอดจนการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The Asian Political and International Studies Association (APISA) : APISA2023

ผู้บริหารและอาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงาน ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The Asian Political and International Studies Association (APISA) : APISA2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Annual Congress Towards New Modalities of Governance in Asia: E-democracy, Civil Society, and Human-Centred Policymaking” โดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2566 ณ Merdeka Tower Business Center (MTBC), Warmadewa College บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

4 มหาวิทยาลัยร่วมพลิกโฉม “สร้างเครือข่ายเพื่อการวิจัย”

วันที่ 27-28 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมประชุมวิชาการ: พลิกโฉมมหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มวิจัยเครือข่าย Reinventing University by Research Network Platform) โดยการร่วมมือระหว่าง 4 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความท้าทายของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัย เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย 3 กลุ่ม ได้แก่ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 1 มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 และ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 ขับเคลื่อนความแข็งแกร่งของงานวิจัยเชิงพื้นที่ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ผสานภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore)

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานกล่าวเปิดการประชุม เปิดเผยว่า จุฬาฯ ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยจุฬาฯ กับ 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีจุดสนใจเหมือนกันมารวมตัวกันเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศ โดยงานวิจัยจะเน้นไปในด้านการแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เชื่อมประสานแพลตฟอร์มวิจัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 มหาวิทยาลัยเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมร่วมกัน จนกระทั่งสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน นำร่องรูปแบบของแพลตฟอร์มวิจัยที่สามารถขยายได้ทั้งกลุ่มนักวิจัยร่วมในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคน และคนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้นำความรู้มาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล”

ศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เริ่มต้นด้วยการวิจัยเรื่อง University-Urban Design and Development หรือเมืองมหาวิทยาลัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปยังการวิจัยในประเด็นอื่น ๆ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยที่จะร่วมกันในการเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันการวิจัยด้วยการพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม เพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และภูมิภาคต่อไป”

ภาพ/ข่าว: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยพะเยา

ม.นเรศวร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์ ดร. กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกิจการนิสิต และผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านการจัดการการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน C2F จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการ หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ

โดยได้รับเกียรติจาก นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางปริษา ปานพรหม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก นางสาวนิภาวรรณ กาญจนพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยทีมบริหาร คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม ระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและสนับสนุนด้านการวิจัยและวิชาการ การผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม ซึ่งมีขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย

1. ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดความร่วมมืองานวิจัยและวิชาการ มุ่งพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม

2. ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ด้านการวิจัยและด้านวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และด้านการส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่

พร้อมกันนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับเมืองเพื่อการรับมือความท้าทายใหม่” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยาย 4 ท่าน จาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ Kyushu University, Japan / Kainan University, Taiwan / จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ณ ห้องประชุมเทาแสด ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต

วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.อรรถกร ทองทา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และนางจิระประภา ศรีปัตตา ผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดกิจกรรมด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต โดยมีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานร่วมประชุม คือ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง, กองกิจการนิสิต และกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยร่วมประชุม ณ ห้อง Main Conference อาคารบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยกิจกรรมด้านการส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต จะเป็นการสอดแทรกกิจกรรมโดยเน้นการสร้างการรับรู้ การสร้างความตระหนัก ด้านการเป็นพลเมืองโลก มีจิตสำนึกความรับผิดชอบและการมรส่วนร่วม ซึ่งจะมีการจัดการอบรมให้ความรู้ การประกวดการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ การนำขยะมาสร้างมูลค่าผ่านกิจกรรมการประกวดชุดแฟนซี การสร้างมูลค่าจากสินค้าที่ทำมาจากขยะรีไซเคิล รวมถึงการจัดการประกวดสื่อด้านความยั่งยืน และการจัดนิทรรศการด้านขยะ เป็นต้น

ที่มา: กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

มน. ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)”

สืบเนื่องจากการที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)” เชิงพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเน้นนำองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน อันจะเป็นทางเลือก และทางรอดสำหรับอนาคต

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ร่วมทำการหารือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวร มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมหาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมเป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ วิชาการ วิจัยและนวัตกรรม และสนับสนุนทรัพยากรบุคคลทางด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศที่สามารถตอบโจทย์ แก้ไข ปัญหาในพื้นที่ และจะร่วมพัฒนาความร่วมมือกับจังหวัดพิษณุโลกในลำดับถัดไป

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมผนึกกำลังจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570

NU SciPark นำทีมโดย ดร.สราวุธ สัตยากวี รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 1/2566 ในการระดมความคิดเห็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 09:00 น. ณ โรงแรมแกรนด์วิษณุ จังหวัดนครสวรรค์ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิเคราะห์ และจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ระยะที่ 2” เพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจสำหรับภาคเอกชนในพื้นที่ให้มีทิศทางภารกิจและบทบาทไปในทางเดียวกัน และสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่

โดยได้รับเกียรติจาก นายสราวุธ สงวนเผ่า ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ

NU SciPark ขอขอบคุณทีมที่ปรึกษาในการวิเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ระยะที่ 2 โดยมี
– อาจารย์ศรัณย์พร เกิดเกาะ สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ
– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ บูรณจารุกร สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์
– อาจารย์กิตติพัฒน์ แสนทวีสุข สังกัดคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนการพัฒนาศรษฐกิจเชิงพื้นที่ จากการที่ภาคเอกชนนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคที่ตรงตามความต้องการไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin