Archives March 2021

เอ็นซี โคโคนัท จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเนื้อเยื่อ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ที่แรกของโลก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นบริษัทผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลก

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท NC COCONUT ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหลายอำเภอที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เช่น อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านโป่ง มีพื้นที่รวมในการเพาะปลูกกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกนับเป็น 10,000 ล้านบาท ต่อปี และในปัจจุบันความต้องการของเกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้นที่หันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำให้สายพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบมีการกลายพันธุ์ ถ้าเกษตรกรนำไปเพาะปลูกกว่าจะเห็นผลผลิตก็จะเสียเวลาในการรอคอยไป 2-3 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรได้ บริษัท NC COCONUT ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวน้ำหอมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของพันธุ์ของมะพร้าว จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จนได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตลูกดก จำนวนทะลายมาก และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบนี้

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวในงานว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้ เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำ และเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายมาก จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอฯ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำตัวอย่างพืช (Explant) ของต้นดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์และปลอดโรค ให้ผลดก เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ในงานนี้ บริษัท NC COCONUT ยังได้ประกาศความสำเร็จความร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลกอีกด้วย เพื่อให้คงไว้ซึ่งต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้และดั้งเดิมพันธุ์ก้นจีบ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร และ สพฐ.-กสศ. ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ

วันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม โดยระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว

ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์สกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ถึงการทำงานของ กสศ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทย ว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้งในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป

ส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า โดยการทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน

ดร.วรลักษณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้วางแผนนะยะเวลาของกระบวนการไว้โดยคร่าวๆ คือ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง ในเดือน เม.ย.จะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือน พ.ค. – มิ.ย.จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศ ว่า ระบบดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

วช.หนุนนักวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดี และ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ

ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็น 1 ใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร พร้อมแกนนำนิสิตจิตอาสา มน. มอบหมอนหลอดรักษ์โลก และสมุดทำมือให้กับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ตามที่ กลุ่มนิสิตจิตอาสามีความสนใจและรวมตัวกันในการกำจัดหลอดดูดน้ำพลาสติกเพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาหลอดดูดน้ำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำความสะอาด แล้วนำไปทำเป็นหมอนหลอดสำหรับหนุนนอนเพื่อสุขภาพ และเอื้อให้กับผู้ป่วยต่างๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านและโรงพยาบาล รวมทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในกลุ่มนิสิตที่สนใจในการร่วมกิจกรรมจิตอาสา ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หมอนหลอด จำนวน  300 กว่าใบ โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 นางสาวธัญญารัตน์ อินทร์เมือง หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนานิสิต บุคลากรกองกิจการนิสิต และแกนนำนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้นำหมอนหลอดรักษ์โลก จำนวน 50 ใบ และสมุดทำมือ จำนวน 100 เล่ม ไปมอบให้กับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก โดยมีท่านนาวาอากาศเอก ภาณุวัตร เรืองประยูร ผู้บังคับการกองบิน 46 เป็นผู้รับมอบและให้การต้อนรับคณะบุคลากรและนิสิตจิตอาสา ณ ห้องประชุมจิรอาสา กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin